วัดแจ้ง เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2431 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยดำริของเจ้าราชบุตร (หนูคำ) หนึ่งในคณะอาญาสี่ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้น ภายในวัดแจ้ง มีสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญคือ พระอุโบสถ ที่สร้างเสร็จในราว พ.ศ. 2455 โดยอาคารหลังนี้ได้รับการยกย่องว่ามีรูปทรงที่สวยงาม และมีงานจำหลักไม้ที่เป็นศิลปะท้องถิ่นโดยแท้ ซึ่งนับวันจะหาดูเป็นตัวอย่างได้ยาก พระอุโบสถวัดแจ้ง หรือสิมวัดแจ้ง เป็นสถาปัตยกรรมแบบอีสาน แปลนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร สูง 10 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง ส่วนผนังด้านหลังก่อทึบ มีบันไดขึ้นทางเดียวคือทางด้านหน้า ราวบันไดปั้นปูนเป็นรูปจระเข้หมอบ หน้าบันเป็นไม้สลักลวดลายแบบพื้นบ้านผสมลายไทยภาคกลาง บนสุดเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ สำหรับหลังคาของพระอุโบสถนั้นเป็นหลังคาชั้นเดียว เดิมมุงด้วยกระเบื้องไม้ ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ส่วนประดับหลังคาประกอบด้วย พะไร (ปีกนก) รวยลำยองแบบไม่มีนาคสะดุ้ง (รวยระกามอญ) ช่อฟ้า (โหง่) ใบระกา และหางหงส์แบบอีสาน โดยมีลักษณะพิเศษคือ ทำเป็นรูปหัวนาค ตรงหงอนสะบัดปลายเป็นกนกเปลว พระอุโบสถวัดแจ้ง ได้รับการบูรณะเรื่อยมาโดยพยายามให้คงสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด ด้วยความงดงามของศิลปะแบบอีสานแท้ ๆ และด้วยความมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทำให้อาคารหลังนี้กลายเป็นสิ่งหมายตาของเหล่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนวัดแจ้ง จังหวัดอุบลราชธานีและยังได้รับเกียรติบัตรในงานนิทรรศการ “สถาปนิก 30” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี