วัดศรีอุบลรัตนาราม เดิมชื่อ วัดศรีทอง เป็นวัดธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี บนถนนอุปราช สร้างเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2398 ตรงกับ ร.ศ. 74 เป็นปีที่ 5 แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี วัดนี้มีพระอุโบสถที่สร้างตามแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง คือ พระแก้วบุษราคัม สถานที่ตั้งวัด เดิมเป็นสวนของท่านอุปฮาดโท (ต้นตระกูล ณ อุบล) มีศรัทธาบริจาคที่ดินประมาณ 25 ไร่ สำหรับสร้างวัดของสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ใหม่ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นในตอนปลายของรัชกาลที่ 3 การถวายที่ดินต่อหน้าพระเถระ ยกให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งวัด ในยามราตรีของวันนั้น เกิดนิมิตประหลาดขึ้น คือมีแสงสว่างพวยพุ่งขึ้นเป็นสีเหลืองทองภายในบริเวณสวนนั้น จึงได้ถือนิมิตมงคลนี้ ตั้งชื่อวัดว่า “วัดศรีทอง” ฝ่ายคณะสงฆ์มีท่านเทวธัมมี (ม้าว) ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เริ่มก่อสร้างกุฏิ วิหาร ศาลการเปรียญ เมื่อปี พ.ศ. 2398 ตามประวัติท่านเทวธัมมี ได้ไปรับการศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เป็นสามเณร และได้เป้นสัทธิวิหาริกของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงผนวช จึงได้ถือลัทธิธรรมยุติกนิกายสืบสายมาตั้งคณะธรรมยุติกนิกายที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในภาคอีสาน โดยมีท่านพันธุโล (ดี) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ดังนั้น ท่านเทวธัมมี จึงถือว่าเป็นพระเถระที่มีศักดิ์ใหญ่ เป็นที่เคารพยำเกรงของบรรดาเหล่าพระภิกษุสามเณร ข้าราชการ ตลอดจนประชาชนทั้งหลายในสมัยนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ เสด็จมาประกอบพิธีฉลองสมโภชฝังลูกนิมิตร และยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม จึงได้ทูลเกล้าถวายพระอุโบสถหลังนี้ ให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระลูกยาเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนชื่อจากวัดศรีทองเป็น “วัดศรีอุบลรัตนาราม” ตามนามขององค์อุปถัมภ์ วัดศรีอุบลรัตนาราม เคยเป็นที่บรรพชาอุปสมบทของพระเถระผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายคันธุระและวิปัสนาธุระหลายรูป มีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจันทเถระ, สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ ติสสเถระ, พระอาจารย์ทา โชติปาลเถระ, พระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ, พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นต้น พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธปฏิมากรปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน แกะสลักจากแก้วบุษราคัม หน้าตักกว้าง 3 นิ้ว สูงจากเรือนแท่นถึงเปลวพระโมลี 5 นิ้ว มีความงามสง่าตามพุทธลักษณะทุกประการ ตามตำนานเล่าสืบกันมาว่าพระวรราชภักดี (พระวอ) พร้อมด้วยบุตรหลานของพระตาคือ เจ้าคำผง เจ้าทิดพรหม และเจ้าก่ำ บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมืองอุบล ได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาจากกรุงศรีสัตนาคตหุต (เวียงจันทน์) เดิมทีพระแก้วบุษราคัม คงจะประดิษฐานอยู่ที่บ้านดอนมดแดง และได้อัญเชิญมาประดิษฐาน อยู่ที่วัดศรีอุบลรัตนารามในเวลาต่อมา ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ทางราชการได้ประกอบพิธีถือนำพระพิพัฒน์สัตยา ที่วัดศรีอุบลรัตนาราม พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัม เป็นองค์ประธานในพิธี โดยถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสืบกันมาแต่โบราณกาล ปัจจุบัน ในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ชาวอุบลราชธานีจะร่วมใจกัน อัญเชิญพระแก้วบุษราคัม เข้าขบวนแห่ไปรอบเมืองอุบลราชธานี เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชน ได้นมัสการกราบไหว้และสรงน้ำกันโดยถ้วนหน้า