วันอาทิตย์ ที่ 01 มกราคม พ.ศ. 2566, 21.15 น.
วันนี้ (1 ม.ค.66) นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประชุมติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ และกำหนดมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 อุบลราชธานี รณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” โดยตั้งจุดตรวจ จุดบริการประชาชน และด่านชุมชน รวม 2,993 จุด มีเจ้าหน้าที่ดูแล รวม 18,356 คน ตลอด 24 ช.ม.
รวม 3 วันของการรณรงค์ (29-31 ธ.ค.65) เรียกตรวจรถนั่งส่วนบุคคล 60,271 คัน รถโดยสารสาธารณะ 2,419 คัน รถบรรทุก 1,693 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี 10 มาตรการ 9,278 คน ช่วงอายุ 20-29 ปี มากที่สุด 3,094 ราย รองลงมา อายุ 30-39 ปี 2,183 ราย และ ต่ำกว่า 20 ปี 1,750 ราย
ถูกดำเนินคดี มากที่สุด ได้แก่ใช้ความเร็วเกินกำหนด รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ / ไม่สวมหมวกนิรภัย / ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย / มอเตอร์ไซด์ไม่ปลอดภัย / เมาสุรา / ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ / ขับรถย้อนศร / ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ และแซงในที่คับขัน
สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 วันที่ 3 ของการรณรงค์ (31 ธ.ค.65) จังหวัดอุบลราชธานี เกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง ไม่มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต 1 ราย รวม 3 วัน (29-1ธ.ค.65) อุบัติเหตุ 5 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย ในพื้นที่ อำภอน้ำยืน สิรินธร ตระการพืชผล และ พิบูลมังสาหาร โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว และดื่มแล้วขับ
ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีได้เน้นย้ำมาตรการ 1. ให้อำเกอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน หน่วยงานที่ดูแลเส้นทาง ถนนสายรอง เพิ่มมาตรการเข้มข้น ในการเฝ้าระวัง ติดตาม ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่จะมีการเดินทางในชุมชน หมู่บ้าน ตำบล เนื่องจากเป็นช่วงที่มีประชาชนเดินทางกลับถึงภูมิลำเนาแล้ว 2. ให้ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ร่วมกันอำนวยความสะดวก รวมถึงวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ในถนนสายหลัก เพื่อดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และผู้เดินทางเข้ามาในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ใช้ถนนสายหลักและไม่คุ้นเคยเส้นทาง 3. ให้รณรงค์และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในและนอกพื้นที่ รับทราบมาตรการเข้มข้นของจังหวัดอุบลราชธานี ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และให้ประชาชนรับทราบถึงความสำคัญของการทำประกันภัย พรบ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อให้ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนได้รับการช่วยเหลือเยืยวยาตามวงเงินความคุ้มครองที่จะได้รับ 4. ให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ระดับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตาม และตรวจสอบ ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงควบคุมเข้มข้น ในเรื่องการดำเนินการภายหลังเกิดเหตุ เช่น การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประสบเหตุ หรือคู่กรณี เมื่อมีการฝ่าฝืนกฎหมายจราจร หรือ การกระทำความผิด การแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยง หรือ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ รายงานผลการดำเนินการให้จังหวัดทราบ 5. ให้ด่านตรวจทุกด่าน เพิ่มรอบและความเข้มข้นในการตรวจให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตอนเย็น ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป ที่มีการดื่มเฉลิมฉลอง หากพบผู้ขับขี่ดื่มแอลกอฮอล์ ให้ดำเนินคดีทุกราย และให้ตรวจสอบสภาพของรถให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด 6. ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบ ถึงอัตราโทษของการดื่มแล้วขับ และกำชับให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
กรณีเมาแล้วขับว่า บุคคลทั่วไปที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 mg% และผู้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 mg% ถือว่าเมาแล้วขับ หากปฏิเสธการเป่าตรวจวัดแอลกอฮอล์ ถือว่าเท่ากับเมา ซึ่งกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 ได้มีการเพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำกรณี “เมาแล้วขับ” ดังนี้
1. ทำผิดครั้งแรก อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 – 20,000 บาท 2. ทำผิดซ้ำข้อหา “เมาแล้วขับ” ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 – 100,000 บาท โดยศาลจะลงโทษจำคุก และปรับด้วย พร้อมถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ 3. เมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ เสียชีวิต โทษสูงสุด 10 ปี ปรับ 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที
ดังนั้น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ขอให้ประชาชนขับขี่ปลอดภัยอย่างมีสติ เมาไม่ขับ เคารพกฎจราจร และมีน้ำใจกับเพื่อนร่วมทาง หากต้องการความช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุสามารถติดต่อสายด่วนได้ตลอด 24 ชั่วโมง 1193 ตำรวจทางหลวง 191 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ 1784 ปภ.รับแจ้งเหตุ