ชาวเหนือยังต้องอยู่ท่ามกลางฝุ่นควันพิษ เช้านี้ยังติดอันดับ 7 โลก โดยเชียงรายและแม่ฮ่องสอนสาหัสสุดโซนแดงอันตราย ขณะอีก 21 จุดยังโซนส้มเริ่มกระทบสุขภาพ ยกเว้นนครสวรรค์ และอุทัยฯยังพอมีอากาศดีๆ ให้หายใจ อีสานเจอพิษฝุ่นควันข้ามแดนจากเพื่อนบ้านคลุมยกภาค สุดสงสารสัตว์ป่าหนีตายจากไฟ
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ภาคเหนือ วันที่ 20 มี.ค.64 เวลา 08.00 น. พบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจพบค่าฝุ่น 2.5 อยู่ระหว่าง 45 – 226 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐานใน 23 พื้นที่ โดยอยู่ในระดับมีผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (โซนสีแดง) 2 พื้นที่คือ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 226 ไมโครกรัมฯ และต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 141 ไมโครกรัมฯ
ขณะที่อีก 21 พื้นที่ ค่าฝุ่นอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพบว่าในจุดตรวจสถานีตรวจวัดทั้งหมดของภาคเหนือมีเพียง 2 พื้นที่คือที่นครสวรรค์ และอุทัยธานี ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง นอกนั้นเกินเกณฑ์ทั้งหมด
ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพตรวจพบค่าฝุ่น 2.5 อยู่ระหว่าง 61 – 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยยังคงเกินเกณฑ์มาตรฐานในทุกพื้นที่ที่มีสถานีตรวจวัด พบค่าฝุ่นสูงสุดอยู่ในระดับมีผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (โซนแดง) 2 พื้นที่คือ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 150 ไมโครกรัมฯ และ ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร 91 ไมโครกรัมฯ ขณะที่เหลืออยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (โซนสีส้ม)
www.iqair.com ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศและจัดอันดับเมืองมลพิษโลกโดยรายงานแบบเรียลไทม์วันที่ 20 มี.ค.64 เวลา 08.00 น. พบว่าเช้านี้เมืองเชียงใหม่ อยู่ในลำดับที่ 7 ดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 157 US AQI
เพจ CCDC: Climate Change Data Center ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โพสต์ระบุ “อัพเดทสถานการณ์ PM2.5 ณ เวลา 21:00 น.วันที่ 19 มีนาคม 2564 โดยรูปทางซ้ายเป็นประมวลข้อมูล PM2.5 จากเซ็นเซอร์ DustBoy และรูปทางขวาเป็นโมเดล PM2.5 จาก Windy.com ภาคเหนือตอนบนเริ่มดีขึ้นบ้างในบางพื้นที่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับอิทธิพลฝุ่นควันจากประเทศลาว ที่มีจุดความร้อนเพิ่มขึ้น ทำให้คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนให้พื้นที่เสี่ยงยังคงให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง”
ขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จ.เชียงใหม่ ได้เร่งดับไฟป่าเชียงใหม่ ที่ป่าห้วยแม่จอก รวมทั้งสำรวจร่องรอยไฟป่าที่ป่าขุนห้วยป่าไร่ พร้อมได้ช่วยเหลือนกฮูก ลูกไก่ป่า และลูกนกแสกที่พลัดหลงกับแม่หลังเกิดไฟป่าโหมหนัก