เมืองดอกลำดวนปิ๊ง‘แตงโมหัวใจ’
ปลูกด้วยรักรับ‘วาเลนไทน์’
ส่งขายลูกละ1,000บาท
ที่ สวนแตงโมจากใจชไมมาศ ชุมชนวัดเลียบ เขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเป็นสวนของ นายธัญชนนท์ ชาติเมธากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุขภัณฑ์คริสตินา (ประเทศไทย) จำกัด โดยสวนแตงโมแห่งนี้มีลักษณะที่เด่นคือจะปลูก “แตงโมเป็นรูปหัวใจ” ในโรงเรือนแบบปิด 2 โรง โดยทำการปลูกแตงโมอินทรีย์ มีจำนวนประมาณ 200 ลูก กระจายเต็มพื้นที่ประมาณ 1 ไร่เศษ นับว่าเป็นสวนแตงโมรูปหัวใจแห่งแรกของไทยที่ปลูกอยู่ใจกลางเมืองศรีสะเกษ
ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวศรีสะเกษ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจสวนของนายธัญชนนท์ โดยมี พ.อ.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รอง ผบ.พล.ร.6 พร้อมด้วย นายวารินทร์ ทวีกันย์
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเกษตร และทีมงาน ร่วมนำเยี่ยมชมสวนในครั้งนี้ด้วยนายธัญชนนท์ กล่าวว่า สำเร็จการศึกษาจาก Kunming international academy ได้มาลงทุนทำสวนผลิตแตงโมเพื่อทำเป็นแปลงตัวอย่าง ซึ่งได้แนวคิดมาจากคุณแม่ชไมมาศ เพราะมีแรงบันดาลใจต้องการที่จะสร้างพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ให้เป็นทางเลือกของชาวเกษตรกร เนื่องจากว่า จ.ศรีสะเกษ นอกจากจะมีหอม กระเทียม และทุเรียนภูเขาไฟ ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกแล้ว ตอนนี้มีแตงโมรูปหัวใจเพิ่มอีก เพราะเกิดจากความชอบส่วนตัวที่เห็นแตงโมรูปหัวใจจากประเทศญี่ปุ่น ก็คิดอยากทดลองทำในประเทศไทย ให้มีคุณภาพเทียบเท่าของเขาบ้าง เชื่อว่าคงสร้างมูลค่าเพิ่มให้แตงโมในประเทศไทยได้มาก
“แตงโมรูปหัวใจหนึ่งเดียวใน จ.ศรีสะเกษ ได้รับการส่งเสริมจาก นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนด้านวิชาการมี พ.อ.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รอง ผบ.พล.ร.6 และทีมงานเป็นที่ปรึกษาในการร่วมคิดค้นวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การสร้างแปลงทดลอง เลือกสายพันธุ์แตงโมให้เหมาะสมกับอากาศของท้องถิ่น เตรียมดินให้เหมาะกับการเติบโตของแตงโม สร้างโรงเรือนให้เพื่อควบคุมอุณหภูมิ เพราะจะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของลูกแตงโมและยังสามารถป้องกันแมลงต่างๆ รบกวน แตงโมที่นี่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ คือไม่ได้ใช้สารเคมีเพื่อเร่งการเติบโตใดๆ ทั้งสิ้น ใช้วิธีปลูกในแนวตั้งโดยใช้เชือกขึงให้เถาของแตงโมเติบโตไปในทิศทางที่ต้องการ หากปลูกในแนวราบจะดูแลได้ยากกว่า”
นายธัญชนนท์กล่าวอีกว่า การคัดเลือกแตงโมให้มีขนาดเหมาะสมที่จะใส่ในบล็อกหัวใจที่เตรียมไว้
ต้องเลี้ยงให้แตงโมมีขนาดตามที่ต้องการก่อนแล้วครอบบล็อกเข้าไปรอให้แตงโมเติบโต ในระหว่างนี้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้มีความชื้นหรือไอของน้ำค้าง อยู่ในบล็อกที่ครอบไว้เพราะอาจจะทำให้ลูกแตงโมเน่าเสียได้ ต้องดูแลเอาใจใส่มากกว่าการปลูกแตงโมธรรมดาทั่วไปหลายเท่า แต่ก็คุ้มเพราะผลผลิตแตงโมรูปหัวใจเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมากราคาเป็นหลัก 1,000 บาทขึ้นไปต่อ 1 ลูก
โดยเฉพาะช่วงเทศกาลพิเศษต่างๆ การที่ตั้งใจผลิตแตงโมธรรมดาๆ มาเป็นแตงโมรูปหัวใจเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางใจมาก เพื่อได้ผลผลิตให้ทันต่อเทศกาล “วันแห่งความรัก” ในปีนี้ เพราะอยากส่งมอบความรักแทนใจให้คนไทยทั้งประเทศที่บอบช้ำกับเศรษฐกิจเพราะพิษโควิด-19 ด้วยแตงโมรูปหัวใจเพื่อให้เกิดมีพลังกาย พลังใจ หัวใจก็เหมือนลูกแตงโมภายนอกดูแข็งแรง ภายในมีเนื้อสีแดง หวานกรอบ อยากให้ทุกคนดูแลหัวใจของผู้ที่เรารัก เช่น พ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูกหลาน ด้วยพลังบวก จากความรักที่แตงโมรูปหัวใจ new normal มอบให้ชาวศรีสะเกษพ.อ.ณัฎฐ์ กล่าวว่า ตนเป็นนายทหารลูกชาวนา ได้ทุ่มเทการทำงานทั้งงานในหน้าที่ดูแลความมั่นคง และงานการช่วยเหลือประชาชน โดยที่ผ่านมาเล็งเห็นถึงปัญหาความยากจนของเกษตรกร จึงตั้งใจที่จะทำโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยร่วมมือกับภาคเอกชน กลุ่มนักวิชาการจิตอาสา และเครือข่ายเกษตรกร 5 จังหวัด คือ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี โครงการแรกคือ โครงการปลูกแตงโมอินทรีย์รูปหัวใจ เริ่มต้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2563 ได้สร้างโรงเรือนแบบปิด 2 โรง และสั่งบล็อกรูปหัวใจจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ต้องการปลูกแตงโมอินทรีย์รูปหัวใจ 200 ลูก เป้าหมายต้องการให้เก็บผลผลิตได้ทันในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เพราะมีความตั้งใจที่จะนำส่งไปมอบเป็นของขวัญแก่คนทั้งประเทศ ที่ร้าน Amezon community mall Active Park ปั๊มน้ำมัน ปตท.เมืองทองธานี กรุงเทพฯ ให้ทันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรักนี้
“การทำสวนแตงโมนี้เป็นแนวทางให้เกษตรกรเครือข่ายได้มาร่วมศึกษา นำแนวทางกลับไปใช้ประโยชน์ให้ได้ผลสำเร็จเพื่อต่อยอดอาชีพได้ยั่งยืน แล้วขยายผลสู่เกษตรกรกลุ่มเครือข่ายด้วย” ดร.กัลยาณีกล่าวว่า รู้สึกชื่นชมที่คนศรีสะเกษสามารถกล้าคิดกล้าทำ เพราะแตงโมรูปลักษณ์ต่างๆ ส่วนมากเห็นได้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ขณะนี้ประเทศไทยสามารถผลิตแตงโมเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ ได้แล้วไม่แพ้ประเทศใด และได้มีการเตรียมเป็นศูนย์เรียนรู้ในภาคการเกษตร เพื่อให้ชาวเกษตรกรได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ในนวัตกรรมต่างๆ
นอกจากนี้ ยังถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากอยู่ในเขตเมืองและสามารถเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมได้ง่ายและสะดวกอีกด้วย