กรมส่งเสริมการเกษตรขอความร่วมมือเกษตรกรปรัง 28 จังหวัด งดทำนาปรังรอบ 2 อย่างจริงจัง เหตุเสี่ยงขาดน้ำโรคระบาด หลังเกิดภาวะแล้งจัดในภาคเหนือ น้ำต้นทุนมีน้อย
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปัญหาฝนตกน้อยกว่าปกติ ทำให้ประสบปัญหาภัยแล้งถึงแล้งจัด น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณเหลือน้อย ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ที่ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวบ้างแล้ว
ดังนั้นหากมีการปลูกข้าวอีกครั้งเป็นรอบที่ 3 ของปี หรือนาปรังรอบที่ 2 จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง เนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เกษตรกรไม่ควรให้นำน้ำมาใช้ในการปลูกข้าวโดยเด็ดขาด เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ จากภาวะน้ำเค็มรุกท้ายลุ่มเจ้าพระยา และในท้ายที่สุดต้นข้าวจะยืนต้นตายจากการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง
ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอความร่วมมือ เกษตรกรในพื้นที่ 28 จังหวัดให้งดปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 เด็ดขาด ประกอบด้วย พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 14 จังหวัด พื้นที่เน้นหนักในการขอความร่วมมือให้งดปลูก ได้แก่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา นครนายก นครปฐม สมุทรสาคร และจังหวัดสุพรรณบุรี
รวมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน ลำพูน บึงกาฬ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี ราชบุรี ระยอง สระแก้ว ชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเกษตรกรควรพักนาและไถกลบฟางข้าวเพื่อเป็นปุ๋ย หรือเลือกปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน
นายเข็มแข็ง กล่าวว่า การปลูกข้าวในช่วงนี้จะทำให้เกษตรกรประสบปัญหาศัตรูพืชและโรคพืชเข้าทำลายได้ โดยศัตรูและโรคพืชที่สำคัญ มี 3 ชนิด คือ โรคไหม้ข้าว มักพบในช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณฝนน้อยและล่าช้า เพลี้ยไฟ มักพบโดยทั่วไป โดยเฉพาะในอากาศร้อนแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนานติดต่อกันหรือในสภาพนาข้าวที่ขาดน้ำ ซึ่งเป็นศัตรูข้าวที่ทำความเสียหายทั้งในพื้นที่ลุ่มและพื้นที่ดอน เพลี้ยไฟจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 20 วัน จึงสามารถทำความเสียหายให้กับนาข้าวเป็นบริเวณกว้างในช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มักพบได้ในช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้งเช่นกัน
สำหรับประโยชน์ของการพักนาไม่ปลูกข้าวต่อเนื่องจะทำให้เกิดผลดีหลายด้าน ได้แก่ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะขาดทุน เนื่องจากพืชยืนต้นตาย ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาพรวมของประเทศ เป็นการพักดินเพื่อลดปัญหาการสะสมของโรคและแมลงศัตรูข้าว ปลูกพืชปุ๋ยสดทดแทนจะช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านการใช้ปุ๋ยในฤดูกาลผลิตถัดไปได้
ทั้งนี้ในกรณีที่มีแหล่งน้ำของตนเองหรือแหล่งน้ำอื่นๆ ที่ประเมินแล้วว่าเพียงพอต่อการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เกษตรกรสามารถเลือกปลูกพืชที่มีตลาดรองรับในพื้นที่ได้ดังนี้ กลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด และถั่วลิสง กลุ่มพืชสมุนไพร เช่น อัญชัน ตะไคร้ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ดาวเรืองตัดดอก และอโกลนีมา และ กลุ่มพืชผัก เช่น ตระกูลกะหล่ำ ตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ตระกูลมะเขือ ผักกินใบ พืชหัว กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพดฝักสด และเห็ด
สำหรับเกษตรกรที่สนใจอยากปรับเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นการปลูกพืชสวน พืชไร่ พืชผัก และไร่นาสวนผสม สามารถรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด ซึ่งกรมส่งเสริมเกษตรได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้เพิ่มเติมด้านการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่เกษตรกร จำนวน 50 จังหวัดแล้ว
ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตราด ตาก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นราธิวาส น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก แพร่ พะเยา มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ยโสธร ร้อยเอ็ด ระยอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ
ส่วนจังหวัดที่เหลือกรมส่งเสริมการเกษตรมีแผนอบรมให้ความรู้ด้านการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มเติมให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรต้นแบบ ในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้เป็นต้นไป และต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่และเกษตรกรต้นแบบจะได้อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อให้ทราบวิธีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ประหยัด ลดการสูญเสีย และการดูแลรักษาพืชในภาวะแล้งน้ำน้อยต่อไป