ย้อนประวัติ สมเด็จพระญาณวชิโรดม (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล ประธานกรรมการคณะสงฆ์ธรรมยุตในประเทศแคนาดา ซึ่งถึงแก่การมรณภาพ ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สิริอายุ 100 ปี 11 เดือน 15 วัน 80 พรรษา
เสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.45 น.
สมเด็จพระญาณวชิโรดม หรือ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล เกิดเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ในครอบครัวของนายสถานีรถไฟปากเพรียว (สถานีสระบุรี ในปัจจุบัน) ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวนพี่น้อง ๗ คน ของท่านขุนเพ็ญภาษชนารมณ์ และนางมั่น บุญฑีย์กุล
เริ่มต้นชีวิตในวัยเด็ก
เนื่องด้วยท่านขุนเพ็ญภาษชนารมณ์ ผู้เป็นบิดา เข้ารับราชการเป็นนายสถานีรถไฟ จึงจำเป็นจะต้องโยกย้ายที่อยู่ไปประจำที่อื่นอยู่บ่อยครั้ง ครอบครัวก็ต้องย้ายติดตามไปด้วย เมื่อครั้งบิดาได้ย้ายมาประจำอยู่ ณ สถานีรถไฟบ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา นับว่าเป็นความโชคดีของครอบครัว บุณฑีย์กุล ที่ได้มาพบกับพระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานรูปสำคัญ และท่านยังเป็นถึงศิษย์ของ “หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ” อีกด้วย นั้นคือ “พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ” และด้วยบิดามารดาของ ด.ช.วิริยังค์ เป็นผู้มีความชอบในการทำบุญ เข้าวัดฟังธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ ด.ช.วิริยังค์ จึงมีโอกาสได้ติดตามท่านทั้งสองไปวัดบ้าง แต่ก็ด้วยวัยที่ยังเด็กเกินไป ในขณะนั้นจึงทำให้ ยังไม่มีความสนใจในการปฏิบัติสมาธิเลยหากแต่ยังคงชอบเที่ยวเล่นสนุกไปตามประสาของเด็กทั่วๆ ไป ด.ช.วิริยังค์ เมื่ออายุได้ ๑๑ ขวบ ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดสุปัฏนาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ต้องมาเรียนที่นี่เพราะ บิดาได้รับคำสั่งให้ย้ายไปปฏิบัติราชการ ณ สถานีรถไฟวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และที่โรงเรียนวัดสุปัฏนารามนี่เอง ด.ช.วิริยังค์ ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งกีฬา และการสมัครเป็นลูกเสือชาวบ้าน หรือแม้แต่กระทั่งเข้าโบสถ์ฟังธรรมในวันพระ แต่ด้วยความเป็นเด็กจึงไม่ได้ให้ความสนใจในการเข้าวัดฟังธรรมมากนัก พยายามที่จะหาวิธีหลีกเลี่ยงอยู่เป็นประจำเรียกว่า “พอหลบหนีได้ก็หลบหนีไป” กันเลยทีเดียว เมื่อ ด.ช.วิริยังค์ เรียนจบชั้นประถมศึกษาพอที่จะอ่านออกเขียนได้แล้ว บิดา มารดาก็ส่งให้ไปอยู่วัดกลาง (ปัจจุบันคือ วัดนารายณ์มหาราช) จังหวัดนครราชสีมา เพื่อฝากเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์ปลัดตา ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดกลางในขณะนั้น ณ วัดกลางแห่งนี้ ด.ช.วิริยังค์ มีความมุมานะในการเรียนบาลีไวยากรณ์ เป็นอย่างมาก แต่ด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัด และมักจะโดนเพื่อน ๆ เด็กวัดด้วยกันกลั่นแกล้งอยู่เสมอ ๆ ทำให้ ด.ช.วิริยังค์ เคยหนีออกจากวัดมาแล้ว แต่เมื่อย้อนกลับมานึก ถึงอาจารย์ปลัดตาที่ท่านรักและให้ความเมตตามาโดยเสมอทำให้ ด.ช.วิริยังค์ กลับตัวและพยายามทำดีตั้งหน้าตั้งตาเรียนบาลีไวยากรณ์กับท่านอย่างตั้งใจ
สมาธิครั้งแรกกับการเปลี่ยนแปลงชีวิต
หลังจากที่ ด.ช.วิริยังค์ เล่าเรียนบาลีไวยากรณ์กับท่านอาจารย์ปลัดตา ณ วัดกลาง ได้สำเร็จแล้ว บิดาก็ได้มารับกลับไปอยู่ที่บ้าน ณ บ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมาเพื่อให้มาช่วยเหลืองานที่บ้าน จนในวันหนึ่งได้รับการร้องขอจาก น.ส.ขลิบ ซึ่งเป็นเพื่อนผู้หญิงในหมู่บ้านเดียวกันที่ ด.ช.วิริยังค์ มีความสนิทสนมอย่างมาก ให้ช่วยเป็นเพื่อนไปวัดป่าสว่างอารมณ์ เพราะต้องไปต่อมนต์กับพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ทุกๆ คืน เช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่เนื่องจากวันนี้เพื่อนๆ ของเธอนั้นเสร็จธุระไปก่อน จึงได้ไปที่วัดกันหมดแล้ว น.ส.ขลิบ จึงขอให้ ด.ช.วิริยังค์ ช่วยเดินไปส่งที่วัดป่าสว่างอารมณ์ ด้วยความที่ ด.ช.วิริยังค์ ยังไม่คุ้นเคยกับสำนักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน จึงทำให้ไม่เข้าใจในขนบธรรมเนียมเมื่อเข้าไปถึงศาลาวัด ก็เข้าไปนั่งปะปนกับผู้หญิงที่กำลังนั่งต่อมนต์กัน พระอาจารย์กงมา จึงกล่าวว่า “วิริยังค์ นี่เธอทำไมไปนั่งข้างผู้หญิง เธอนั่งที่นั่น ต้องกราบก้นผู้หญิงมานั่งที่นั่งของผู้ชายทางนี้” ด้วยความตกใจที่จะต้องเข้าไปนั่งใกล้พระอาจารย์เป็นครั้งแรก บวกกับการที่อยากจะกลับบ้านแต่ก็ไม่กล้ากลับ เพราะกลัวผี สร้างความลำบากใจ ทั้งรำคาญและหงุดหงิดให้แก่ ด.ช.วิริยังค์ เป็นอย่างยิ่ง ด.ช.วิริยังค์ จึงมานั่งรำพึงในใจว่า “เราจะไม่มาอีกแล้วๆๆ” นานเท่าไรไม่ทราบ ก็บังเกิดเหตุอัศจรรย์ใจ ปรากฏว่าจิตของ ด.ช.วิริยังค์ รวมสงบนิ่งลง พลันปรากฏมีอีกร่างหนึ่ง เดินออกจากร่างกายเดิม ลงจากศาลาเดินไปตามลานวัด และหยุดยืนอยู่ ณ บริเวณที่ปัจจุบันเป็นสถานที่สร้างอุโบสถ ปรากฏมีลมชนิดหนึ่งพัดโชยเข้ามาสู่ใจ ทำให้เกิดความสุข อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิต ทันใดนั้นเอง ด.ช.วิริยังค์ ถึงกับอุทานออกมาว่า “คุณของพระพุทธศาสนายังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบันนี้หรือ?” จากนั้นจึงเดินกลับมายังศาลาที่นั่งอยู่ มองไปที่ร่างกายจึงนึกขึ้นว่า เราจะกลับเข้าร่างเดิมได้ยังไง ทันใดนั้นเองก็พลันรู้สึกตัวขึ้น ได้แต่นั่งรำพึงในใจว่า “อัศจรรย์ใจจริงๆ ทำไมถึงดีอย่างนี้ๆ” นับแต่นั้นเป็นต้นมา ด.ช.วิริยังค์ ก็ได้เปลี่ยนนิสัยเก่าโดยสิ้นเชิง เริ่มเข้าวัดฟังธรรม จำศีลสวดมนต์ภาวนาเรื่อยมานับแต่วันนั้น
ตอนต่อสู้ในช่วงบวชเป็นสามเณร
เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี จากที่ ด.ช.วิริยังค์ ได้รับรสพระสัจธรรมอันเกิดจากสมาธิ และการสวมมนต์ภาวนา รักษาศีล ก็ยิ่งทำให้เชื่อมั่นในคุณของพระพุทธศาสนายิ่งขึ้นเพิ่มความศรัทธาในการที่จะออกบรรพชา เป็นสามเณรเป็นกำลัง หลังจากที่บิดามารดาได้อนุญาตแล้ว พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ จึงได้นำบวชเป็นชีปะขาว และนำไปบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ณ วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา โดยมี พระธรรมฐิติญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ หลังจากบรรพชาแล้ว ส.ณ.วิริยังค์ ก็มาพักอยู่ที่วัดป่าสาลวันก่อน
ซึ่งในขณะนั้นถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่การปฏิบัติธรรมกรรมฐาน โดยมี (พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์) พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นเจ้าอาวาส เพื่อความสะดวก ในการทำหนังสือสุทธิ จากนั้นจึงลาพระอุปัชฌาย์กลับไปวัดป่าสว่างอารมณ์ตามเดิม เมื่อย้ายกลับมาวัดป่าสาลวัน แล้ว ส.ณ.วิริยังค์ ก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างเข้มงวดเป็นอย่างมาก โดยมี พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้เมตตาอบรมสั่งสอนวิชากรรมฐาน ส่งผลให้การบำเพ็ญความเพียร ของสามเณรวิริยังค์ ได้พัฒนาขึ้นไปตามลำดับอย่างน่าพอใจ นับเป็นความโชคดีอีกครั้งหนึ่งของ สามเณรวิริยังค์ เนื่องจากพระอาจารย์กงมา มีกิจนิมนต์ไปกรุงเทพฯ แต่ด้วยความเป็นห่วงศิษย์ จึงนำสามเณรวิริยังค์ ไปฝากไว้กับ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าศรัทธารวม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อฝึกปฏิบัติข้อวัตรต่าง ๆ รวมถึงการปฏิบัติด้านสมาธิให้พัฒนายิ่งขึ้น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้ชื่อเป็นพระผู้มีพลังจิตแก่กล้า และที่สำคัญท่านก็ยังเป็นศิษย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ อีกด้วย
ตอนต่อสู้ในช่วงเป็นพระภิกษุ
นับแต่บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ประพฤติธรรมฝึกปฏิบัติกรรมฐาน อุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์ อายุของสามเณร วิริยังค์ก็ร่วงเลยมาเหมาะสมแก่การอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระอาจารย์กงมา ท่านจึงเมตตาจัดเตรียมการอุปสมบทให้อย่างง่าย ๆ ณ วัดทรายงาม (อุทกสีมากลางทะเล) บ้านหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมี พระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาทองสุข สุจิตฺโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ ๑ พรรษา มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าอยากที่จะพบและศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ การทำสมาธิจากพ่อแม่ครูอาจารย์ “หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ” เป็นอย่างมาก จึงรบเร้าพระอาจารย์กงมา ให้เมตตาช่วยนำไปฝากให้ประพฤติปฏิบัติ กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ ซึ่งในขณะนั้นท่านพำนักอยู่ ณ วัดบ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร แต่ในใจก็นึกกล้าๆ กลัวๆ เพราะได้ยินกิตติศัพท์ เล่าลือมาว่า
๑. ท่านอาจารย์มั่น รู้จักใจคน จะนึกจะคิดอะไรทราบหมด
๒. ท่านอาจารย์มั่น ท่านดุยิ่งกว่าใครๆ ทั้งสิ้น
๓. ท่านอาจารย์มั่น ท่านเทศนาในธรรมปฏิบัติยอดกว่าใคร ๆ ทั้งนั้น
๔. ท่านอาจารย์มั่น ท่านปฏิบัติตัวของท่านเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์อย่างยอดเยี่ยมยอด
๕. ท่านอาจารย์มั่น ท่านจะต้องไล่พระที่อยู่กับท่านถ้าหากทำผิด แม้แต่ความผิดนั้นไม่มากแต่เป็นเหตุให้เสื่อมเสีย
แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติสมาธิ ที่หวังจะให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ตนเองและผู้อื่น ดังที่ได้ตั้งปณิธานไว้แล้ว ความกลัวทั้งหลายก็ไม่อาจมาขวางกั้น ความมุ่งมั่นตั้งใจในการเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ ท่านผู้ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งยุค ในด้านการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน อย่างองค์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ ลงได้เลยประกอบกับนึกถึงคำพูดของพระอาจารย์กงมา ที่ได้เมตตากล่าวแก่ท่านว่า “วิริยังค์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นปรมาจารย์ และเป็นอาจารย์ของเรา สมาธิทุกๆ ขั้นตอน ผมได้สอนท่านไปหมดแล้ว ต่อไปนี้ท่านจะได้เรียนสมาธิกับท่านปรมาจารย์ ท่านอย่าประมาท จงปฏิบัติหลวงปู่มั่นแบบถวายชีวิต ท่านจะได้ความรู้อย่างกว้างขวางยิ่งกว่าที่ผมสอนอีกมากนัก” พบพระอาจารย์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่
ในที่สุดแล้วความปรารถนาของพระวิริยังค์ ก็สำเร็จผลดังตั้งใจ ณ วัดบ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อันเป็นสถานที่มงคลที่ท่าน ได้พบกับ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ มีโอกาสอยู่ศึกษาพระธรรมวินัย ข้อวัตร และการปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน และในขณะเดียวกันก็ได้รับหน้าที่อันสุดประเสริฐของตัวท่านเอง คือ “การเป็นพระอุปัฏฐากรับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ อยู่เป็นเวลาทั้งสิ้น ๔ ปี” ในช่วงเวลานี้เองที่ท่านได้มีโอกาสได้จดบันทึกคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ อันสุดแสนประเสริฐและเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันอย่างกว้างขวาง ในชื่อหนังสือ “มุตโตทัย”
นอกจากการได้รับโอกาสให้เป็นพระอุปัฏฐากแล้ว พระวิริยังค์ยังได้รับโอกาสครั้งสำคัญสุดในชีวิตของท่านเอง นั้นคือ การได้ออกเดินธุดงค์ กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ สองต่อสอง โดยมีจุดหมายปลายทางที่วัดเลียบ (วัดบูรพาราม) จังหวัดอุบลราชธานี อันจะเป็นสถานที่ถวายพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล พระมหาเถระผู้เป็นพระอาจารย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ นั้นเองการเดินธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่มั่นในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันสำคัญที่พระวิริยังค์ จะได้ปฏิบัติสมาธิให้พัฒนามากยิ่งขึ้น รวมถึงได้มีโอกาสเรียนถามปัญหาข้อธรรมและข้อปฏิบัติต่างๆ ทั้งตื้น ลึก หนา บาง ที่ได้นำมาสั่งสอนอบรมศิษย์ ทั้งพระภิกษุ สามเณร และฆราวาสจนถึงปัจจุบัน นับเป็นการธุดงค์ที่ล่ำค่าสุดจะประมาณนำมาพรรณนาความได้เลย
นับเป็นเวลากว่า ๔ ปี ที่พระวิริยังค์ ได้อยู่อุปัฏฐากรับใช้ใกล้ชิด “หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ” และที่เคยได้อุปัฏฐากรับใช้ “พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ” ผู้ที่ท่านนับถือว่าเป็น พระอาจารย์องค์แรก เป็นเวลา ๘ ปี รวมเป็นเวลากว่า ๑๒ ปี ท่านได้ใช้โอกาสที่ได้รับนี้ พยายามศึกษาพระธรรมวินัย ข้อวัตร และหลักการปฏิบัติสมาธิ ทั้งอย่างหยาบ อย่างละเอียด ตื้น ลึก หนา บาง จนเป็นที่แน่ใจแล้วในหลักการและแนวทางการปฏิบัติ จึงได้กราบลาพระอาจารย์แสวงหาความวิเวกส่วนตัวตามแต่โอกาสจะอำนวย แม้พระอาจารย์ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เช่นกัน วิชาสมาธินี้ เป็นวิชาที่เลิศและประเสริฐโดยแท้ แต่หากจะรู้เพียงคนสองคนแม้เป็นสิ่งที่มีค่ามากเพียงใด ก็คงต้องหายไปจากโลกนี้ไปสักวัน เมื่อมานึกถึงสิ่งนี้หลวงพ่อวิริยังค์ ก็บังเกิดจิตเมตตาอยากที่จะเผยแผ่วิชาสมาธินี้ให้แก่ชาวโลก สมดังปณิธานที่มั่นคงตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๒๙ – พ.ศ. ๒๕๓๔ ท่านได้พัก ณ วิทยาลัยสงฆ์น้ำตกแม่กลาง (วัดเทพเจติยาจารย์ ในปัจจุบัน) อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ท่านได้มีเวลาทบทวนหลักการต่าง ๆ ที่ได้เคยไตร่ถามอัตถปัญหาสมาธิ พร้อมทั้งคำแนะนำจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตเถระ จึงได้เขียนเป็นตำราสมาธิขึ้นมา เรียกชื่อว่า “หลักสูตรครูสมาธิ” เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓ เล่ม โดยรวมหลักการปฏิบัติอันเป็นทฤษฎี นับตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง ตามลำดับ อันแพร่หลายไปทั่วประเทศไทยแล้วกว่า ๑๑๐ สาขา ในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๗) ภายใต้นาม “สถาบันพลังจิตตานุภาพ” และ ขยายไปยังต่างประเทศถึง ๘ สาขา ทั้งใน ประเทศแคนาดา และสหรัฐอเมริกา
เริ่มต้นการสร้างผลงาน
-การศึกษา
เมื่ออายุ ๑๕ ปี พุทธศักราช ๒๔๗๗ ได้บวชเป็นชีปะขาว การศึกษาเนื่องจากการบวช ตั้งแต่อายุยังน้อย จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ หลังจากนั้นบรรพชาแล้วเรียนจบ นักธรรมชั้นตรี
นอกจากนั้น เป็นเวลาปฏิบัติกรรมฐาน เดินธุดงค์ตลอดระยะเวลาบรรพชา และอุปสมบท
ปริญญากิตติมศักดิ์
-พุทธศักราช ๒๕๓๘ ปริญญาพัฒนบริหารศาสตรดุษฎีบัณทิตกิตติมศักดิ์ ด้านบริหารการพัฒนา จาก สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
-พุทธศักราช ๒๕๔๕ ปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณทิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการศึกษา จาก สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา
-พุทธศักราช ๒๕๔๕ ปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณทิตกิตติมศักดิ์ สาขาการศึกษานอกระบบ จาก มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
-พุทธศักราช ๒๕๕๐ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยโยนก จังหวัดลำปาง
-พุทธศักราช ๒๕๕๓ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณทิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จังหวัดเชียงราย
-พุทธศักราช ๒๕๕๔ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการเพื่อการพัฒนา จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
-พุทธศักราช ๒๕๕๕ ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
-พุทธศักราช ๒๕๕๖ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
-พุทธศักราช ๒๕๕๗ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและเทคโนโลยี จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
สมณศักดิ์
-พุทธศักราช ๒๕๐๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่ พระครูญาณวิริยะ (ฝ่ายวิปัสสนาธุระ)
-พุทธศักราช ๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระญาณวิริยาจารย์ (ฝ่ายวิปัสสนาธุระ)
-พุทธศักราช ๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชธรรมเจติยาจารย์ (ฝ่ายวิปัสสนาธุระ)
-พุทธศักราช ๒๕๔๕ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเจติยาจารย์ (ฝ่ายวิปัสสนาธุระ)
-พุทธศักราช ๒๕๕๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมมงคลญาณ (ฝ่ายวิปัสสนาธุระ)
โล่รางวัล
-พุทธศักราช ๒๕๓๕ เข้ารับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักรทองคำ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
-พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้รับรางวัล มูลนิธิ คุณหญิงเบญจา แสงมะลิ สาขาพระสงฆ์
-พุทธศักราช ๒๕๔๑ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลดีเด่นของกรุงเทพมหานคร เพชรกรุงเทพ-สาขาศิลปวัฒนธรรม ศาสนาและการศึกษา จากกรุงเทพมหานคร
-พุทธศักราช ๒๕๔๘ ฯพณฯ อิญาชิโอ ดิ ปาเช เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ทำหน้าที่ในนามรัฐบาลแห่งประเทศอิตาลี ในการทำพิธีถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ Order of the Star of ltalian Solidarity ชั้น Knight แด่พระเทพเจติยาจารย์ ผู้ก่อตั้งและประธานของซีไอดีไอ (ชนาพัฒน์) เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแห่งผลงาน ที่ได้สร้างเสริมความร่วมมือด้วยวิชาการและวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศอิตาลี การมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังกล่าวกระทำตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งถูกนำเสนอโดยนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศ
-พุทธศักราช ๒๕๕๒ ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พระเถระผู้มีพุทธคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา ระดับกาญจนเกียรติคุณ จาก คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร
-พุทธศักราช ๒๕๕๓ ที่ประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก มองรางวัลและเหรียญเชิดชูเกียรติ The World Fellowship of Buddhists Medal for Culture “The WFB 25 th General Conference & 60th Anniversary 14 – 17 November B.E. 2553 (2010) Colombo, Sri Lanka”
-พุทธศักราช ๒๕๕๗ รางวัลการส่งเสริมการศึกษาเพื่อสันติภาพ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ โดย ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ ประธานมูลนิธิการศึกษา เพื่อสันติธรรม พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)
ขอบคุณข้อมูล https://www.dhammamongkol.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง…
โปรดเกล้าฯให้’เจ้าคุณพระสินีนาฏ’ เป็นผู้แทนพระองค์บำเพ็ญพระราชกุศล
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%