วันจันทร์ ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565, 19.11 น.
พอถึงฤดูร้อน ในแต่ละปี อากาศจะร้อนอบอ้าวเป็นอย่างมาก ทำให้หลายๆครอบครัวต่างพากันหนีร้อนไปเที่ยวทะเล เล่นน้ำตามหาดทราย หรือเกาะแก่ง ตลอดจนลำน้ำสายต่างๆในพื้นที่จังหวัดของตนหรือจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเป็นการคลายร้อน และพักผ่อนไปในตัว
ที่ จังหวัดอุบลราชธานี ก็มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจทางสายน้ำเพื่อคลายร้อนอยู่หลายแห่งหลายที่ ล้วนได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีนักท่องเที่ยวทั้งที่มาจากภายในจังหวัดอุบลฯและที่มาจากต่างจังหวัด มาพักผ่อนหย่อนใจ ลงเล่นน้ำเย็นๆตามหาดทรายกันเป็นจำนวนมาก และ ส่วนใหญ่ มักจะไปนั่งรับประทานอาหารบนแพริมฝั่งแม่น้ำมูล สัมผัสกับบรรยากาศอันแสนสงบ ร่มรื่น เย็นฉ่ำ และลงเล่นน้ำ ที่หาดบุ่งสระพัง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หาดศรีภิรมย์ ซึ่งอยู่ในพื้นบ้านปากน้ำ หมู่ที่ 10 ต.กุดลาด อ.เมือง จ.อุบลฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีไปตามเส้นทางสายอุบลราชธานี-อำเภอตาลสุม เพียง12 กิโลเมตรเท่านั้น พอถึงบ้านปากน้ำ ก็เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ก็ถึงหาดบุ่งสระพัง ซึ่งหาดบุ่งสระพังแห่งนี้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาดและชาวบ้านปากน้ำได้ช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้เรื่อยมา จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี
หาดบุ่งสระพัง หรือ หาดศรีภิรมย์ เป็น มรดกทางธรรมชาติ ที่มี หาดทราย ผุด กลางลำน้ำมูล ให้เห็นกันในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ในทุกๆปี หาดบุ่งสระพัง เริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชน เพราะวิสัยทัศน์และ การพัฒนาของ พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำรูปที่ 9 (พ.ศ. 2493-2550) ซึ่งเป็นพระเถระที่มีอารมณ์แจ่มใส สุภาพอ่อนโยน ใจคอ กว้างขวางหนักแน่น โอบอ้อมอารี สงบเสงี่ยม หนักแน่นในธรรมวินัย มั่นคงอยู่ ในพรหมวิหาร การพัฒนาหาดแห่งนี้ได้เริ่มมาจากการที่ท่านได้นำ พระภิกษุสามเณร ในปกครองของท่านไปขนทรายที่ หาดบุ่งสระพัง ขึ้น มาทำการ ก่อสร้างเสนาสนะภายใน วัดปากน้ำ และวัดใกล้เคียง ต่อมาเมื่อ หาดบุ่งสระพัง เป็นที่เล่าขานถึงความสวยงามของประชาชน ทั่วไป และ จังหวัดใกล้เคียง พระมงคลธรรมวัฒน์ จึงได้อนุรักษ์และพัฒนาเรื่อยมา และเนื่องจากความเป็นผู้ผ่านสังคมเมืองมาก่อน จึงทำให้ท่านมองการณ์ไกล มีแนวคิดที่จะพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญขึ้น ทัดเทียมสังคมทั่วๆ ไป พระมงคลธรรมวัฒน์ จึงได้นำชาวบ้านตัดถนนจากหมู่บ้านปากน้ำลงสู่ แม่น้ำมูล (ที่เป็นหาดบุ่งสระพังในปัจจุบัน) พร้อมกับสร้างศาลาอเนกประสงค์ขึ้นหลังหนึ่งที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “หาดบุ่งสระพัง” ซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นต่างมีความแปลกประหลาดใจที่ท่านตัดถนนและสร้างศาลาขึ้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวน้ำจะท่วมในหน้าฝน ซึ่งจะทำให้ถนนและศาลาเกิดความเสียหาย ชาวบ้านจึงมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำเช่นนั้น แต่ในที่สุด ชาวบ้านก็เข้าใจและยอมรับในการตัดสินใจและการกระทำของพระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล)
ส่วนทาง ด้านปลายน้ำ บุ่งสระพัง ท่านได้ขอความช่วยเหลือจากทหารหน่วยซิวิ-แอคชั่น กองทัพสหรัฐอเมริกาตัดถนนลงสู่ บุ่งสระพัง อีกเส้นทางหนึ่ง เพื่อให้ชาวตำบลกระโสบ ตลอดจนตำบลใกล้เคียง เดินทางลงสู่แม่น้ำได้สะดวก และถนนสายดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกว่า “ทางหลวงกระโสบ” ในเวลา ต่อมา เมื่อการเดินทางจากหมู่บ้านลงสู่ แม่น้ำมูล สะดวก ผู้คนก็เริ่ม เข้าไปพักอาศัย บ้างก็นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปเลี้ยง บ้างก็เข้าไปหาอาหาร บริเวณหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำมูลก็เริ่มมีผู้คนสัญจรไปมา ทั้งกลางวันและกลางคืน ต่อจากนั้น ท่านเริ่มให้พระเณรนำทรายจากหาดทรายขึ้นไปใช้ในการก่อสร้างภายในวัด และเริ่มนำชาวบ้านพัฒนา หาดบุ่งสระพัง ให้มีความ สวยงามมากยิ่งขึ้น และ กำหนดให้มีกิจกรรม ต่างๆ ในเทศกาลที่เกี่ยวกับวันสำคัญ เช่น ลอยกระทง และ ก่อเจดีย์ทราย ใน เทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น
ในปัจจุบัน หาดบุ่งสระพัง หรือ หาดศรีภิรมย์ เปรียบเหมือน พัทยากลางลำน้ำมูล มีหาดทรายสายสวยงาม ถ้ายืนอยู่บนฝั่งก็สามารถมองเห็นหาดทรายทอดลงไปในแม่น้ำมูลจนเกือบจะถึงอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ ในที่สุดชื่อเสียงของหาดทรายแห่งนี้เริ่มเป็นที่กล่าวขานถึงและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ผู้คนหลงใหลในความสวยงามในเวลาต่อมา และในแม่น้ำมูลตลอดสาย มีหาดบุ่งสระพัง เป็น หาดแห่งเดียวที่มีทรายไหลมากองรวมกันจนกลายเป็นเนิน หลายจุดหลายเนิน จนสามารถเล่นกิจกรรมต่างๆ กลางแม่น้ำมูลได้ เช่น ก่อกองทราย เล่น กีฬา ประเภทต่างๆ ส่วนสาเหตุที่ทรายไหลมากองรวมที่หาดบุ่งสระพัง เนื่องจากแม่น้ำมูลบริเวณดังกล่าวเป็นโค้งคุ้งน้ำ แม่น้ำฝั่งอำเภอวารินชำราบเป็นร่องน้ำลึก มีตลิ่งค่อนข้างสูง จึงทำให้ทราย ไหลมารวมกันอยู่ฝั่งอำเภอเมืองตรงบริเวณหาดบุ่งสระพัง ซึ่งมีท่าน้ำราบเรียบ ดังนั้นพอถึงหน้าแล้ง ก็จะมีเนินทรายผุดขึ้นกลางลำน้ำมูลขาวโพลน นักท่องเที่ยวสามารถลงไปเล่นในแม่น้ำมูล หรือเดินข้ามแม่น้ำมูล ได้อีกด้วย
เพราะความที่หาดบุ่งสระพังเป็นมรดกทางธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ พระมงคลธรรมวัฒน์จึงพยายามที่จะรักษาหาดทรายแห่งนี้ไว้ให้เป็นสมบัติของแผ่น ดิน และพยายามปลูกฝังให้ชาวบ้านเกิดความรักและเห็นความสำคัญ แม้จะมีผู้พยายามที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ขอสัมปทานดูดทรายจากหาดแห่งนี้ แต่ท่านก็พยายามแนะนำให้ลูกหลานชาวบ้านรู้คุณค่าของมรดกทางธรรมชาติเหล่านี้ และให้ช่วยกันหวงแหน ไม่ยอมให้มีการดูดทราย ต่อมาภายหลังทางราชการได้เข้ามาช่วยรับผิดชอบ ท่านจึงนำ ชาวบ้านปรับปรุงศาลาเรือนไม้ที่สร้างไว้แต่เดิมขึ้นมาใหม่ ให้เป็นศาลาคอนกรีต เพื่อให้เกิดความมั่นคงถาวรสืบไป และในปัจจุบัน ท่านที่ไปสัมผัสบรรยากาศหรือไปเล่นน้ำที่หาดบุ่งสระพัง ท่านจะได้พบกับเรือนแพอาหารหลายเจ้าหลายร้าน ปลูกเรียงรายริมฝั่งแม่น้ำมูลยาวเหยียดตลอดแนวของหาดบุ่งสระพัง มีอาหารรสชาติอร่อย สะอาด ถูกหลักอนามัยไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวทั้งอาหารไทย อาหารอีสาน เมนูไก่บ้านรสเด็ด ปลาเผาที่สดและอร่อย และอื่นๆอีกมากมาย สามารถสั่งมานั่งรับประทานบนแพได้ตามใจชอบและที่สำคัญ หาดบุ่งสระพัง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี อีกด้วย เรื่องของความ สะอาด ปลอดภัย ให้ความร่มรื่น เย็นสบาย จึงเป็นที่หนึ่ง ตรึงตา ตรึงใจนักเที่ยวมาโดยตลอด
เมื่อมาเที่ยวหาดบุ่งสระพัง ก็อย่าลืม ไปสักการะ ขอพร หลวงพ่อเงิน 700 ปี พระศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้าน คู่เมือง ที่ วัดปากน้ำ บุ่งสระพัง และ แวะสักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดป่าบ้านบาก ดงพระคเณศ ซึ่งก่อนจะถึงหาดบุ่งสระพัง วัดป่าบ้านบากจะอยู่ซ้ายมือของท่าน และ ยังมีเจดีย์บุ่งสระพัง เจดีย์สีทองเหลืองอร่าม ซึ่งเป็นเจดีย์แห่งชุมชน บ้านปากน้ำ ( ตั้งอยู่หาดบุ่งสระพัง ) ให้ทุกท่านได้กราบไหว้ ขอพร อีกด้วย
ดังนั้น ร้อนนี้พี่น้องชาวอุบลฯและบรรดานักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัด ที่มีโอกาสไปเยื่อนเมืองอุบลฯ อย่าลืมไปสัมผัสบรรยากาศอันสดชื่น เย็นสบาย คลายร้อนกับสายน้ำมูลที่เย็นฉ่ำ พร้อมหม่ำอาหารรสเด็ด หลากหลายเมนู ตามแพอาหารที่ตั้งเรียงรายอยู่หาดบุ่งสระพัง บ้านปากน้ำ ต.กุดลาด อ.เมือง จ.อุบลราชธานี รับรองว่า ท่านจะต้องประทับไปอีกนานแสนนาน.
กิตติภณ / อุบลราชธานี / รายงาน.