กินสบายใจอุบลฯพลิกวิกฤตโควิด – มูลนิธิสื่อสร้างสุข ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรคปี 9 โดยชักชวนผู้ผลิต ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภัยพิบัติ และวิกฤติโควิด-19 ด้วยการจัดงานรูปแบบใหม่ เข้ายุควิถีใหม่ หรือนิวนอร์มัล เพื่อเน้นขายสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบออนไลน์ตลอด 3 วัน
งานกิจกรรมจัดขึ้นวันที่ 29-31 ม.ค. มูลนิธิสื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี จัดงานเทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรค ปีที่ 9 ที่สุนีย์ทาวน์เวอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยการสนับสนุนของ สสส.
ภายในงานมีการเสวนาให้ความรู้ด้านสุขภาพ และสร้างการตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ และวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มาออกร้านภายในงานด้วย
นายนพภา พันธุ์เพ็ง ประธานกรรมการมูลนิธิสื่อสร้างสุข กล่าวว่างานเทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรค ปี 9 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการกินสบายใจ ดำเนินงานโดยมูลนิธิสื่อสร้างสุข และมี สสส.ให้การสนับสนุน
ปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “โควิด-19 เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก” แบบ นิวนอร์มัลในรูปแบบออนไลน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อชวนทุกคนเปลี่ยนวิถีการผลิต การบริโภค ปรับวิถีชีวิตใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภัยพิบัติ และโควิด-19
พร้อมด้วยการเสวนาชวนเปลี่ยน “โควิด-19 เปลี่ยนเราเปลี่ยนโลก” การถอดบทเรียน โควิดปิดเมืองไม่อดตาย กิจกรรมไลฟ์สดนาทีทองสินค้าเกษตรอินทรีย์ การประกวด Organic Got talent 2021, ออร์แกนิกขายให้ปัง
พร้อมกันนี้ก็ได้เชิญชวนผู้สนใจร่วมไลฟ์สดขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ การเวิร์กช็อปชวนปลูกกะกล่ำปลีกินเอง ผู้สนใจสามารถ เข้าร่วมกิจกรรมได้โดยผ่านช่องทางออนไลน์ เพจกินสบายใจ เพจอุบลคอนเนก เคเบิลทีวีท้องถิ่น ช่อง VR Cable TV และเพจสถานีข่าว วีเคเบิลทีวีอุบลฯ เพจอยู่ดีมีแฮง เพจ Sunee Tower และเพจมูลนิธิ สื่อสร้างสุข
ขณะที่ นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมระบุว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นผลกระทบจากการบริโภคที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่สูงขึ้นถึง 1.47 องศาเซลเซียส ส่งผล กระทบต่อความแปรปรวนของสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ในปี 2563 ทั่วโลกเกิดโรคระบาดโควิด-19 ส่งผล กระทบต่อทั้งผู้ผลิตอาหาร และผู้บริโภคอาหาร ตลอดจนกลไกการ กระจายอาหารในหลายพื้นที่ ตลาดบางแห่งได้ปิดตัวลง ทำให้ประชาชนบางกลุ่มขาดแคลนอาหาร หรือเข้าไม่ถึงอาหาร เกษตรกรผู้ผลิตก็ขาดช่องทางการจำหน่ายผลผลิตสู่ผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา ขาดรายได้ และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย
ส่วนนายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ร่วมกล่าวว่า สสส.และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านอาหารปลอดภัยมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีผู้คนมากมายตลอดห่วงโซ่อาหารได้มาเกี่ยวข้อง และเชื่อมร้อยกัน งานด้านอาหาร
จึงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะในมิติของสุขภาพ กระบวนการทำงานที่เชื่อมร้อยคนให้มาเรียนรู้การผลิต การรับรับรองมาตรฐาน การตลาด การบริโภค ลงมือทำจนเกิดเป็นรูปธรรม และขยายสู่สังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ล้วนทำให้เกิดสุขภาวะ ทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และปัญญา
“วิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ชวนทุกคนหันมาพึ่งตนเองแบบองค์รวม ทั้งเรื่องอาหาร และวิถีการดำเนินชีวิต โดยเริ่มต้นที่การเปลี่ยนเรา เพื่อเปลี่ยนโลก ทั้งการผลิตด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ การบริโภคอาหารอินทรีย์ ที่จะเชื่อมโยงไปถึงสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่เกื้อกูลกัน
รวมทั้งชวนเปลี่ยนวิถีชีวิตอื่นๆ เช่น การจัดการขยะในครัวเรือน การลดการใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำรงชีวิตของเราด้วย” ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวทิ้งท้าย