เผยแพร่:
ปรับปรุง:
อุบลราชธานี – พ่อเมืองอุบลฯ เอาจริงปราบฝุ่นจิ๋ว ระดมทุกภาคส่วนร่วมดับไฟ หลังชาวบ้านเริ่มเผาตอซัง ทำค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งเกินมาตรฐานมานานกว่า 1 สัปดาห์ คาดโทษเจ้าของที่นาหากหาตัวคนเผาไม่ได้ต้องรับผิดชอบถูกดำเนินคดี
วันนี้ (2 มี.ค.) ณ บริเวณที่นาของชาวบ้านไผ่ ต.กลางใหญ่ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายอำเภอ และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอเขื่องใน ช่วยกันดับไฟที่ชาวบ้านเผาตอซังและฟางข้าว หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านเกิดไฟลุกลามกินบริเวณกว้างหลายสิบไร่
เหตุเผาตอซังและฟางข้าวดังกล่าวได้ส่งผลกระทบทำให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานติดต่อกันมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น
จากการสอบถามชาวบ้านในจุดที่เกิดไฟไหม้ทราบว่าการเผาครั้งนี้นอกจากเป็นการเผาตอซังที่เหลือจากการทำเกษตรกรรมแล้ว ชาวบ้านยังต้องการจับหนูที่อยู่ในนาเอาไปขาย จึงสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำความเข้าใจกับชาวบ้าน หากพบการเผาในพื้นที่ใด เจ้าของที่นาอาจถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามเผาเศษวัชพืชของจังหวัดอุบลราชธานี ขณะเดียวกันได้สั่งให้เตรียมรถน้ำของหน่วยงานท้องถิ่นไว้ดับไฟ เนื่องจากอำเภอเขื่องในมีจุดฮอตสปอตเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ต่อเนื่องมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพราะจากการตรวจวัดสภาพอากาศพบมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานถึง 147 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในพื้นที่ 5 อำเภอ สาเหตุเกิดจากกระแสลมพัดฝุ่นละอองมาจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีการจุดไฟเผาเพื่อเก็บหาของป่าตามป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้งเผาวัชพืชตามชุมชน
จึงมีการระดมหน่วยงานประชาสัมพันธ์ให้หยุดเผาเพื่อลดปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ สำหรับวันนี้ จังหวัดอุบลราชธานีมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ลดลงจากเมื่อวานที่วัดได้ 97 เหลือ 65 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ก็ยังสูงเกินมาตรฐานกำหนด (สูงเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และจากการตรวจสอบจุดความร้อน (hotspot) ของจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 มี.ค. พบมี 4 จุด คือ อ.เขื่องใน 3 จุด (พื้นที่เกษตร) และ อ.เขมราฐ 1 จุด (ป่าสงวนแห่งชาติ)
สำหรับค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 รายชั่วโมงพบว่ามีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีค่าสูงมากในช่วงเช้า ทำให้อยู่ในระดับยังมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไปควรเฝ้าระวัง หากมีอาการไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง แต่หากรู้สึกแน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรรีบปรึกษาแพทย์ในทันที