เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
“ประธานหอการค้าฯ” เผย ผลประเมินความเสียหายวิกฤตน้ำท่วมทั้งประเทศ ล่าสุดสูงถึง 12,000-20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงเท่าตัว ส่วนภาคการเกษตรเสียหาย 8,000 ล้านบาท ด้านหอการค้าจังหวัดตั้งวอร์รูมร่วมกับผู้ว่าฯติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เตรียมจัดประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ทึ่ จ.อุบลฯ ปลาย พ.ย.นี้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะนี้วิกฤตน้ำท่วมได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ความเสียหายเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยพื้นที่ที่หนักหนาสาหัสที่สุดคงหนีไม่พ้นภาคอีสาน โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี ตามด้วยพื้นที่ลุ่มต่ำในภาคกลาง อย่าง จ.อยุธยา ซึ่งบางจุดถูกน้ำท่วมขังมานานกว่า 2 เดือน ซึ่งล่าสุด “หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” ได้จัดประชุมหอการค้าระดับภูมิภาคเพื่อรับฟังข้อมูลและประเมินผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ รวมทั้งวางแนวทางการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมหอการค้าระดับภูมิภาคได้ประเมินความเสียหายจากวิกฤตน้ำท่วมล่าสุด พบว่ามูลค่าความเสียหายรวมทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 12,000-20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประเมินไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าความเสียหายโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท ถึง 1 เท่าตัว โดยความเสียหายของภาคการเกษตรอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลายจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานหอการค้าจังหวัดได้มีการตั้งวอร์รูมเพื่ออัพเดทข้อมูลทุกเช้า อีกทั้งแต่ละจังหวัดก็มีการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ล่าสุด จ.ขอนแก่นแจ้งว่าเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำสูงมาก และกำลังวางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยจะทยอยปล่อย เพราะหากปล่อยลงมาทีเดียวน้ำจะเข้าสู่ จ.มหาสารคาม จากนั้นน้ำก็จะไหลเข้าสู่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่วิกฤตอยู่แล้ว สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม จ.อุบลราชธานี นั้นประธานหอการค้า จ.อุบลราชธานี แจ้งว่าถนนหลายสายประสบปัญหาน้ำท่วม ประชาชนหลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่น้ำท่วมก็ได้มีการประสานกับหน่วยงานรัฐเพื่อนำเฮลิคอปเตอร์ไปรับผู้ป่วยเพื่อนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล
นายสนั่น กล่าวต่อว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละภาคอย่างใกล้ชิดโดยให้หอการค้าในแต่ละจังหวัดรายงานสถานการณ์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ จากข้อมูลทราบว่าขณะนี้พื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานบางส่วนน้ำเริ่มลดแล้ว ส่วนพื้นที่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ จ.อุบลราชธานี และพื้นที่ที่จะอยู่ในแถบภาคกลางเนื่องจากเป็นพื้นที่ปลายน้ำ เช่น ชัยนาท ลพบุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนพื้นที่ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม เช่น ในจังหวัดอยุธยา นั้นได้รับทราบจากผู้ประกอบการและเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมว่าได้มีการสร้างเขื่อนชั่วคราวสูงถึง 6 เมตร และเตรียมกระสอบทรายไว้ป้องกันน้ำ จึงมีความมั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรมจะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมครั้งนี้อย่างแน่นอน
สำหรับมาตรการช่วยเหลือนั้นเมื่อเร็วๆนี้ก็ได้มีการมอบเงินช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยใน 27 จังหวัด ผ่านหอการค้าจังหวัด ขณะที่รัฐบาลก็ได้เตรียมงบประมาณ 23,000 ล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ ส่วน จ.อุบลราชธานีซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างหนักนั้นทางหอการค้าไทยฯได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะมีการประชุมใหญ่ของหอการค้าจังหวัดจากทั่วประเทศในช่วงปลายเดือน พ.ย.2565 ที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอุบลราชธานีได้พอสมควร