สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดยังน่าเป็นห่วง โดยที่จังหวัดเชียงใหม่ น้ำปิงยังสูงกว่าระดับวิกฤตถึง 1 เมตร ส่วนจังหวัดศรีสะเกษน้ำท่วมแล้วทั้ง 22 อำเภอ และจังหวัดอุบลราชธานีก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะระดับน้ำมูลยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ได้ติดตามสถานการณ์ในวันนี้(4 ต.ค.)
ผวจ.เชียงใหม่ ยืนยันน้ำปิงเอ่อล้น ไม่หนักเท่าปี 54
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ที่บริเวณด้านหน้าตลาดอนุสาร ย่านไนท์บาซาร์ ถนนช้างคลาน ซึ่งเป็นหนึ่งในย่านเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา(3 ต.ค.) พร้อมเปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง ยังคงสูงกว่าจุดวิกฤตเกือบ 1 เมตร หากไม่มีระบบป้องกันที่ดี และแผนที่วางไว้ ก็จะทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมเหมือนกับปี 2554 มีเพียงบางจุดที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ก็ได้มีการนำกระสอบทรายไปเสริมเพื่อปิดช่องโหว่แล้ว ทำให้สามารถรับมือกับน้ำปิงที่เพิ่มสูงขึ้นได้ข้ามวัน ภาพรวมพื้นที่ของทั้ง 7 โซนในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า อยู่ในโซนเสี่ยงภัยที่ 1 และโซนเสี่ยงภัยที่ 2 บางจุด โดยที่ตลาดอนุสาร ปีนี้น้ำท่วมสูงถึงขอบฟุตบาท ถือว่ายังรับมือได้ดี หากเทียบเมื่อปี 2554 ที่น้ำได้ทะลักเข้าบ้านเรือนประชาชนแล้ว
ส่วนสถานการณ์น้ำจากด้านเหนือที่อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่แตง ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำปิง ก่อนจะไหลเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ ช่วง2 วันที่ผ่านมา ฝนเริ่มเบาบางลงไปแล้ว ทำให้ระดับน้ำเหนือที่ไหลลงมาทรงตัว ซึ่งจะส่งผลให้แม่น้ำปิงที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ทรงตัว 1-2 วัน และจะลดลงจนสถานการณ์คลี่คลายไปตามลำดับ
จ.ศรีสะเกษน้ำท่วมแล้วทั้ง 22 อำเภอ
ขณะระดับน้ำในลำห้วยสำราญ ที่ไหลเชี่ยวกราก ได้ซัดทลายกำแพงกระสอบทรายที่วางกั้น ปั้มน้ำมัน ปตท.ท่าเรือ ปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ จนพังทลายลงมา ทำให้มวลน้ำจำนวนมากทะลักเข้าไปท่วมบริเวณปั้มน้ำมัน รวมทั้งหัวจ่ายน้ำมัน 6 หัว รถเก๋ง 1 คัน และอุปกรณ์ต่างๆ ในปั๊มจนจมอยู่ใต้น้ำ เจ้าหน้าที่ต้องรีบนำรถแบ็คโฮมาตักเอากระสอบทรายไปวางขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเพิ่มขึ้น
ด้าน นายสำรวย เกษกุล รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ขณะนี้ปริมาณน้ำในลำห้วยสำราญสูงกว่าตลิ่ง ร่วม 3 เมตรแล้ว และยังมีเเนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก จากมวลน้ำที่มาจากแนวชายแดนไทยกัมพูชา แถบอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และ อำเภอบัวเชด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ที่ไหลมารวมกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับผลกระทบแล้วทั้ง 22 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 32,800 ครัวเรือน นาข้าวเสียหายกว่า 179,000 ไร่
น้ำท่วมอุบลฯ ยังวิกฤต นายกฯ ลงพื้นที่วันนี้
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี ยังคงวิกฤต เมื่อวานนี้(3 ต.ค.) ระดับน้ำในแม่น้ำมูลยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 10 เมตร 41 เซนติเมตร ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งทะลักท่วมขยายวงกว้าง ทุกชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำ รวมทั้งถนนสายอุบลราชธานี-วารินชำราบ ตั้งแต่ทางเข้าหาดสวนยา ไปจนถึงสะพานกุดปลาขาว ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ระดับน้ำท่วมสูง จนรถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้
เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงชนบทอุบลราชธานี ต้องเร่งระดมกำลังวางกระสอบทราย 12,000 ใบ และแบริเออร์ 200 แท่ง เป็นแนวใช้ป้องกันน้ำท่วมทางหลวงชนบท ที่เชื่อมกับถนนเลี่ยงเมือง เพราะเป็นเส้นทางหลักที่ใช้ลำเลียงผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลอำเภอวารินชำราบ และโรงพยาบาลอุบลราชธานี ไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และพื้นที่ตัวเมืองของอุบลราชธานี ขณะที่หน่วยทหารและเหล่ากาชาด ได้นำรถบรรทุก รถกระบะยกสูง มาคอยให้บริการรับ-ส่งประชาชน ข้ามฝั่งไป-กลับ ระหว่างอำเภอวารินชำราบ กับอำเภอเมืองอุบลราชธานี ตั้งแต่เวลา 05.30 จนถึง 20.00 นาฬิกาของทุกวัน
ในวันนี้(4 ต.ค.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วยตนเอง
ภาพ TNNOnline