เผยแพร่:
ปรับปรุง:
อุบลราชธานี – ภาคประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานีเสนอความต้องการพัฒนาท้องถิ่นถึงผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น หวังนักการเมืองมองผลประโยชน์ประชาชน สานต่อโครงการดีๆ แทนผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตนเอง
ที่ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเหล้า จังหวัดอุบลราชธานี ภาคประชาสังคมในจังหวัด มีการระดมความเห็นจากคนหลายกลุ่ม ทั้งคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน และพลเมืองอาวุโส เพื่อรับฟังสิ่งที่ภาคพลเมืองต้องการเห็นทิศทางการพัฒนาบ้านเมือง หลังการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า
ที่ประชุมมีการนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองให้มีความทันสมัย ตอบสนองความต้องการเดินทางของคนในเมืองเพื่อลดความแออัดในการใช้พาหนะส่วนตัว การพัฒนาชุมชนแออัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน จัดให้มีลานปฏิบัติธรรม เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองนักปราชญ์มีวัดอยู่จำนวนมาก แต่ยังไม่มีลานปฏิบัติธรรมเหมือนสวนโมกข์
จัดทำระบบการศึกษาให้กระจายถึงชุมชน เด็กจะไม่ต้องเดินทางข้ามเมืองเข้ามาหาความรู้แต่ในเมืองเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทำแหล่งออกกำลังกายให้ทั่วถึง อยู่ใกล้ชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกไม่ต้องเดินทางไกลมาออกกำลัง และลดความแออัดจากคนที่มาใช้สถานที่จำนวนมากในแต่ละวัน
ประการสำคัญคือ ต้องการให้นักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อการเลือกตั้งผ่านไปให้หันมาร่วมใจกันทำงานเพื่อสานต่อโครงการเดิมที่ดี ไม่ใช่เปลี่ยนคณะผู้บริหารก็มุ่งสร้างโครงการเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนเอง
ด้านนายนิกร วีสเพ็ญ พลเมืองอาวุโสชาวจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นวันนี้ กล่าวว่า วันนี้เป็นการรวมตัวของคนหลายวัยเพื่อทวงความเป็นพลเมืองในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี เพื่อไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนไม่ใช่เป็นของกลุ่มนักการเมืองใดกลุ่มหนึ่งที่เสนอตัวมาลงสมัครรับเลือกตั้ง
แผนงานของเทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งที่คนรุ่นใหม่มาร่วมกันวาดฝันในวันนี้ว่า อยากเห็นการพัฒนาในเทศบาลนครในฐานะที่เป็นภาคพลเมืองอย่างไร จึงเป็นหัวใจสำคัญที่เอาความฝันไปแปรเป็นรูปธรรมให้กลุ่มการเมืองต่างๆ นำไปพัฒนา
ดังนั้น อนาคตโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเทศบาลนครเป็นแนวคิดของประชาชน กลุ่มใดที่ได้รับการเลือกตั้งก็ต้องช่วยกันสานต่อความฝันของภาคประชาชนให้เป็นจริง เพราะโครงการต่างๆ ไม่ใช่เป็นของกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเป็นโครงการที่ทำเพื่อลูกหลาน รวมทั้งเป็นการมีส่วนร่วมในการพัฒนา แสดงถึงการเป็นเจ้าของชุมชน เจ้าของเมืองของพวกเรา
สำหรับเทศบาลนครอุบลราชธานีมีพื้นที่ประมาณ 29 ตารางกิโลเมตร เป็นเทศบาลนครที่มีประชากรตามทะเบียนราษฎรในปี 2560 จำนวนประมาณ 76,000 คน มากเป็นอันดับที่ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองจากเทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลนครนครราชสีมา และเทศบาลนครขอนแก่น มีงบประมาณใช้จ่ายปีละกว่า 800 ล้านบาท กว่าครึ่งเป็นงบใช้จ่ายประจำ