นายกานต์ กัลป์ตินันท์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี คนใหม่จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ถือเป็นเหล้าใหม่ในขวดเก่า เพราะเคยนั่งตำแหน่งนี้มาก่อน ตั้งแต่เป็นประธานสภาปี 2538 และรับการถ่ายโอนอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่สวมหมวกสองใบ ได้เป็นนายองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เต็มตัวเมื่อปี 2540 รวม 2 สมัย ก่อนมาพ่ายให้กับนายพรชัย โควสุรัตน์ หลานชายนายสิทธิชัย โควสุรัตน์ เลยหันเหไปเล่นการเมืองระดับชาติได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 2549 ไม่นานก็ถูก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ปฏิวัติ
การหวนกลับมาแข่งขันในสนามระดับจังหวัด หลังห่างหายไปนานกว่า 10 ปี ทำให้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเร่งพัฒนาเมือง ซึ่งดูช้าไปกว่าปกติ เพราะหลังการปฏิวัติเมื่อปี 2557 มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายคน ทำให้งานไม่ปะติดปะต่อสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนที่เริ่มเปลี่ยนไปอย่างมากในยุคไทยแลนด์ 4.0
สิ่งแรกที่นายกานต์ กัลป์ตินันท์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี รับปากต้องรีบทำในทันทีคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการบริการสาธารณสุขรถกู้ชีพฉุกเฉิน 1669 ซึ่งมีความจำเป็นกับประชาชนให้ทั่วทั้งจังหวัด และมีบริการตลอด 24 ชั่วโมง
แม้ขณะนี้ การให้บริการรถฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นใช้ช่วยฟื้นคืนชีพชีวิตผู้เจ็บป่วยทั้ง 219 ตำบล จะมีปัญหาจากสัญญาณเช่าที่สิ้นสุดลง แต่จะเร่งแก้ไขให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่สะดุจ พร้อมยังสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยทางไกลผ่านระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือหมอมือถือให้ทันสมัยยิ่งขึ้นไปอีก
ความเร่งด่วนในลำดับต่อมาก็คือ การพัฒนาจุดเชื่อมต่อของถนนตามหมู่บ้านราว 2,700 หมู่บ้าน เพราะการคมนาคมบางส่วนยังเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้การเดินทางของประชาชนไม่สะดวก และเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดอุบัติทางถนน เกิดความสูญเสียชีวิตของผู้คนตามถนนสายรอง แม้งบประมาณใช้พัฒนาในแต่ละปีจะเหลืออยู่เพียง 300-400 ล้านบาท แต่ก็จะทำให้ได้มากที่สุดในยุคสมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง
สำหรับการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จะถือนโยบายคนที่อยากเรียนต้องได้เรียนกับโรงเรียน อบจ.ทั้ง 12 แห่ง ซึ่งจะมีการจ้างครูสอนพิเศษที่มีความเชี่ยวชาญความรู้ในแต่ละด้านมาสอนเด็กนักเรียนในสังกัด โดยเฉพาะเรื่องภาษา พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนใช้ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนให้ครบตามความจำเป็น
ลำดับต่อมาคือ การพัฒนาอาชีพคนในท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพตามแหล่งท่องเที่ยว เพราะจังหวัดอุบลราชธานี มีศักยภาพด้านแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และการผลิตศิลปะหัตกรรมในครัวเรือน ทั้งการทอผ้าฝ้าย ผ้าไหมทำมือ การผลิตเครื่องทองเหลือง และการแปรรูปอาหารหลากหลายรูปแบบ ล้วนสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้า เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบหาซื้อ ก็จะทำให้จีดีพีของจังหวัดที่มีอยู่แล้วกว่า 1 แสนล้านบาท เติบโตยิ่งขึ้นไปอีก
“ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ตนได้รับปากไว้กับประชาชนระหว่างรณรงค์หาเสียง โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ การพัฒนาด้านการศึกษา และเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ต้องมาก่อนในช่วง 4 ปีที่ตนดำรงตำแหน่ง”