- Line
อุบลราชธานี-เทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรคปี 9 นักวิชาการส่งเสริมกินให้เป็น เน้นใกล้ธรรมชาติ อาหารปลอดภัย ห่างไกลโรค
มูลนิธิสื่อสร้างสุข ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ภาครัฐและเอกชน โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขอเชิญเที่ยวงาน เทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรค ปี 9 “โควิด -19 เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก” เพื่อสุขภาวะที่ดีและเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ ระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม 2564 ณ ลานแสดงกิจกรรม ชั้น 1 ห้างสรรพสินค้า สุนีย์ทาวเวอร์ อุบลราชธานี
โดยวันนี้ (30 ม.ค.64) เทศกาลกินสบายใจ ห่างไกลโรค ปี 9 ถูกจัดขึ้นเป็นวันที่สอง มีกิจกรรมมากมายให้ผู้ที่สนใจได้เข้าร่วม อาทิ การประกวด organic got talent ขายให้ปัง,การประกวดเมนูอาหารสุขภาพจากแป้งมันออร์แกนิค และกิจกรรมเวทีเสวนา รูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม ZOOM ซึ่งจะจัดเป็น 2 ช่วงเวลาภาคเช้าและภาคบ่าย พร้อมออกอากาศสดผ่านช่องทางออนไลน์ เพจกินสบายใจ เพจอุบลคอนเนก เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ช่อง VR Cable tv เพจสถานีข่าววีเคเบิ้ลทีวีอุบลฯ เพจอยู่ดีมีแฮง เพจ Sunee Tower เพจมูลนิธิสื่อสร้างสุข และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี
ซึ่งในส่วนของเวทีการเสวนาชวนเปลี่ยนภาคเช้า ได้มีการพูดถึงหัวข้อ “ข้าวปลาอาหารสำคัญไฉน ในยุคโควิด ? ” โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และนายแพทย์ สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้พัฒนาอาหารปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. เผย แนวคิดถึงการปรับพฤติกรรมการกินอยู่ในยุคโควิด-19 ว่า คนไทยจะต้องกินเป็น เน้นกินแบบธรรมชาติ เพราะหากเรารู้จักปรับการกินก็จะทำให้ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ เฉลี่ยปัจจุบันคนไทยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้องรังจำนวนสูงโดยเฉพาะโรคเบาหวานโรคความดัน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกินไม่เป็น มีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป กินหวานมันเค็มจัด ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ห่างการออกกำลังกาย นอกจานี้คนไทยกินผักผลไม้ไม่เพียงพอกลายเป็นมนุษย์บริโภคสารปนเปื้อน กินอาหารห่างกันไกลธรรมชาติทานอาหารผ่านกระบวนการปรุงแต่ง
ซึ่งการจะลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้ต้องเริ่มต้นจากการกินแบบใกล้ธรรมชาติ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นโปรตีนจากปลา บริโภคปลา 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ กินผักผลไม้ที่ผลิตจากธรรมชาติแหล่งวิตามินต้านโรค ลดการทานหวานมันเค็ม ลดการบริโภคอาหารผัด ทอด กินผักพื้นบ้าน หันมาทานข้าวกล้องที่อุดมไปด้วยวิตามินมีใยอาหาสูง ชะลอการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล ทานไข่วันละ 1 ฟอง ดื่นนมเพิ่มแคลเซียม พร้อมควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย
นอกจากนี้ สง่า ดามาพงษ์ ยังเสริมว่า จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันไม่มีผู้ใดสามารถตอบได้ว่าโรคโควิด-19 จะหายไปจากโลกนี้เมื่อไรและในอนาคตจะเกิดโรคอุบัติใหม่หรือไม่ ? ซึ่งจากเหตุผลเหล่างนี้ทำให้เราทุกคนต้องหันมาทบทวนคิดหาวิธีรับมือการเอาตัวรอดกับโรคภัยไข้เจ็บ โดยสิ่งที่ควรทำที่สุดในตอนนี้คือการหันมาดูแลร่างกายและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง กินอาหารให้ปลอดภัย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกาย ห่างไกลโรค
ด้าน นายแพทย์ สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19นั้น ประชาชนต้องตระหนักดูแลตนเองพึ่งพาตนเอง หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร รับประทานร้อนกินช้อนกลาง ออกกำลังกายสร้างภูมิคุ้มกัน ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้แข็งแรง
แต่ทั้งนี้ การเลือกทานอาหารต้องควบคู่ไปกับความสุข รู้จักการแบ่งรับประทานอาหารให้สอดคล้องกับการใช้พลัง แบ่งสัดส่วนให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน ทานเยอะก็ต้องเผาผลาญออกเยอะ อาหารมีความสำคัญมากต่อร่างกาย กินไปอย่างสบายใจ งดอาหารรสจัด
ซึ่งส่วนของทางสาธารณสุข จังหวัดอุบลราชธานี ได้ลงพื้นที่เชิงลุก ส่งเสริม อสม. ทำเกษตรอินทรีย์ ให้ความรู้ เป็นต้นแบบนำร่องการปลุกเกษตรอินทรีย์ สนับสนุนคนในชุมชนให้หันมาบริโภคผลผลิตอินทรีย์ หนุนตลาดนัดสีเขียวในโรงพยาบาล ขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนพฤติกรรมการบริโภคแบบปลอดภัยอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มสร้างมาตรฐานผู้ผลิตปลูกฝังจิตสำนึก ส่งเสริมผู้บริโภคเพิ่มความรู้อาหารปลอดภัยกินเป็นเน้นผักและสอดคล้องกับวิถีชีวิตพอเพียง ป้องกันตนเองให้ห่างไกลโรค
สามารถชมย้อนหลังการเสวนา “ข้าวปลาอาหารสำคัญไฉน ในยุคโควิด ? ”
ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.
ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง