นางศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า(GISTDA) กล่าวว่า ได้ติดตามและประเมินข้อมูลค่าความชื้นในดินด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียมมาโดยตลอด เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของความชื้นในดิน ซึ่งจะเป็นสัญญาณเตือนอันหนึ่งที่จะบอกเราได้ในยามที่ภัยแล้งจะมาเยือน รวมถึงความสามารถในการระบุพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งได้
นางศิริลักษณ์ กล่าวว่า ภาพที่เห็นเป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมระบบโมดิส (MODIS) 2 ช่วงเวลา คือ เดือนกันยายน พ.ศ. 2563 และเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันก็แสดงให้เห็นความแตกต่างของค่าความชื้นในดินที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูร้อน จากภาพจะเห็นว่าช่วงฤดูฝน (กันยายน 2563) ทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะอุดมไปด้วยความชุ่มชื้นในดิน (ปรากฏสีเขียว) ไม่พบความแห้งแล้งใดๆ ซึ่งเหมาะอย่างมากสำหรับการทำการเกษตรที่ต้องใช้น้ำเยอะ ในขณะที่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงหน้าแล้ง (กุมภาพันธ์ 2564) ค่าความชื้นในดินจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด (ปรากฏสีเหลือง ,สีส้ม ,สีแดง) จนทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ พื้นที่ โดยเฉพาะหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างเช่น มหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด นครพนม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สกลนคร อุดรธานี เป็นต้น รวมถึงจังหวัดทางภาคเหนือ ที่น่าเป็นห่วง เช่น ลำปาง ตาก เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ จะนำมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของภัยแล้งทุกๆ ปี เพื่อให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลาง และหน่วยงานในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีความพร้อมในการวางแผน รับมือ และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
นางศิริลักษณ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ดัชนีที่ใช้ตรวจวัดความแห้งแล้งบนภาพถ่ายจากดาวเทียมที่นิยมใช้กัน อาทิ Normalized Difference Vegetation Index หรือ NDVI ซึ่งเป็นการศึกษาความสมบูรณ์พืช ภายใต้สมมติฐานที่ว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งก็คือพื้นที่ฝนทิ้งช่วงทำให้ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ต้นไม้พืชพรรณที่เติบโตในบริเวณนั้นไม่สมบูรณ์ไปด้วย หรือ NDWI ที่มีชื่อเต็มว่า Normalized Difference Water Index ซึ่งจะดูการเปลี่ยนแปลงความชื้นในดินที่ลดลงในยามที่ภัยแล้งมาเยือน อย่างภาพดาวเทียมที่เห็นอยู่นี้ก็ใช้ NDWI ในการวิเคราะห์เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการนำอุณหภูมิพื้นผิวดิน หรือที่เรียกว่า Land Surface Temperature มาใช้ในการศึกษาด้วยเหตุที่ว่าหากอุณภูมิสูงก็ยิ่งเร่งให้การระเหยของน้ำในดินให้หายไปเรื่อยๆ
“ดัชนีที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของดัชนีที่ใช้ตรวจวัดความแห้งแล้งบนภาพภ่ายจากดาวเทียมที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน หากนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยา เช่น ดัชนีปริมาณน้ำฝนมาตรฐาน หรือ Standardized Precipitation Index (SPI) ก็จะสามารถนำมาวิเคราะห์หาพื้นที่ประสบภัยแล้งได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อนำไปสู่มาตราการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่นั้นๆต่อไป จะเห็นได้ว่าภัยแล้งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อน ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน แต่ส่งผลกระทบกับผู้คนเป็นวงกว้างสร้างความเสียหายในระยะยาว และยังเป็นสาเหตุของปัญหาอื่นๆตามมาอีกด้วย เช่น ความยากจน เป็นต้น แต่ข้อมูลภูมิสารสนเทศจะช่วยทำให้เห็นภาพพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้ชัดเจนขึ้น”นางศิริลักษณ์ กล่าว