กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน โดยกำหนดเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ได้มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ดังที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และ “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ซึ่งช่วยชุบชีวิตของผู้ประกอบการทอผ้าทั่วประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้พี่น้องประชาชนผู้ประกอบการทอผ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ทรงทอดพระเนตรกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของโครงการศิลปาชีพ และในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครบ 90 พรรษา เพื่อสร้างการรับรู้ประวัติศาสตร์สู่คนรุ่นหลัง และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป และทรงพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นของขวัญให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิคนำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ ทรงออกแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง แสดงถึงความตั้งพระทัยมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชกรณียกิจ ของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน
จากนั้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะลักชัวรี โฮเต็ล แบงค็อก เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พร้อมมอบแนวทางขับเคลื่อน “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ซึ่งต้องเป็น “ทูตการสวมใส่ผ้าไทย” และเป็นผู้นำในการสวมใส่ผ้าไทย รวมถึงเชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย เพื่อร่วมกันสร้างความภาคภูมิใจ และสร้างประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้เรียนรู้และใส่ผ้าไทยให้สนุกในทุกวัน
สำหรับ ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” นั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบผ้าลายพระราชทานฯ โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง ได้แก่ ลาย S ที่ท้องผ้า หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดยลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S นี้ หมายถึง ความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์, ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อปวงชนชาวไทย, ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข, ลายต้นสนที่เชิงผ้า หมายถึง พระดำริใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่น ที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ, ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน
วันที่ 3 มีนาคม 2565 เวลา 11.00 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน นายอำเภอพร้อมภริยา ทั้ง 25 อำเภอ พัฒนาการอำเภอ คณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับจังหวัดและอำเภอ ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและทอผ้าไทยในจังหวัดอุบลราชธานี รวม 26 กลุ่ม เข้าร่วมพิธีฯ ณ หอประชุมจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายและการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นของไทย และประชาสัมพันธ์แบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับกลุ่มทอผ้าที่เป็นช่างทอผ้า กลุ่มทอผ้า และผู้ผลิต ผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ได้นำลายพระราชทานไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอด เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่นให้ร่วมสมัย นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง นับเป็นความปลาบปลื้มของพสกนิกรชาวจังหวัดอุบลราชธานี อย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระเมตตา ตลอดจนทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
นอกจากนั้นภายในบริเวณพิธีฯ ยังได้มีการแสดงนิทรรศการลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”, นิทรรศการผ้าไทยใส่สนุก, นิทรรศการจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี และนิทรรศการจากบ้านคำปุน อำเภอวารินชำราบ โดยนายมีชัย แต้สุจริยา “ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน” แห่งบ้านคำปุน ซึ่งได้รับรางวัล Best of The Best ในการประกวดผ้าลายขอพระราชทานเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยทุกขั้นตอนในการจัดพิธีฯ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี.. ภาพข่าว/รายงาน
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่