วันอาทิตย์ ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2565, 18.19 น.
วันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ บ้านกลาง หมู่ 1 ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็นอีกหมู่บ้านที่น่าสนใจแม้หลายพื้นที่จะประสบปัญหาจากโรคโควิดระบาด จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจ การค้า แต่สำหรับชาวบ้านกลางถือว่าได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากมีอาชีพหลัก นอกจากการทำนา ยังมีการต่อยอดนำภูมิปัญญาท้องถิ่น จากวิถีชีวิตขุดดินปั้นครกใช้ในครัวเรือน ต่อยอดพัฒนาเป็นอาชีพในการขุดดินปั้นครกขายมายาวนานกว่า 30 ปี ปัจจุบันกลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้เงินหมุนเวียนสะพัดปีละไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท จากการปั้นครกส่งขายทั่วประเทศ
โดยชาวบ้านกลางไม่น้อยกว่า 50 หลังคาเรือน จะใช้เวลาว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา หันมาขุดดินในพื้นที่บริเวณท้ายหมู่บ้านที่ติดกับลำห้วย ซึ่งมีความได้เปรียบกว่าที่อื่น ตรงที่บ้านกลางมีดินคุณสมบัติพิเศษ เหมาะสำหรับนำมาปั้นครก โดยไม่ต้องมีส่วนผสม เพียงใช้ดินธรรมชาติที่ขุดมาได้ ผ่านขบวนการตามแบบฉบับภูมิปัญญาชาวบ้าน ปั้นขึ้นรูปเป็นครก ตากลมจนแห้งแล้วเข้าเตาเผา ครั้งละ 1,800-2,000 ใบ โดยจำนวนมากน้อยขึ้นอยู่ขนาดของเตา ใช้เวลา 4 คืน 3 วัน ก่อนนำออกส่งขาย สร้างรายได้มหาศาล ที่สำคัญชุมชนปั้นครกบ้านกลาง เป็นหมู่บ้านได้ชื่อว่าผลิตครกคุณภาพดีที่สุดในไทย ส่งออกขายไปทั่วประเทศ บางครอบครัวสามารถสร้างรายได้เดือนละนับแสนบาท
นายสุนทร ชื่นชม อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านกลาง ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน ประธานเครือข่ายเครื่องปั้นดินเผา เปิดเผยว่าชาวชุมชนบ้านกลาง ถือเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจสำคัญของ จ.นครพนม เนื่องจากมีรายได้จากการปั้นครกส่งขายทั่วประเทศ โดยนำอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน สืบทอดจากบรรพบุรุษมากว่า 100 ปี ผู้นำเข้ามาเป็นคนแรกคือพ่อเฒ่าไห พื้นเพเป็นคนมาจาก จ.อุบลราชธานี ที่มีวิชาปั้นโอ่งเป็นพื้นฐาน ประจวบกับหนองน้ำมีดินที่เหมาะแก่การปั้นโอ่ง จึงปั้นโอ่งไว้รองรับน้ำในฤดูฝน ภายหลังพ่อเฒ่าไหทดลองมาปั้นครก ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี ก่อนจะเผยแพร่ความรู้ให้กับคนในหมู่บ้าน
เริ่มจากการทดลองปั้นใช้ในครัวจนประสบความสำเร็จ กลายเป็นที่ต้องการของตลาด จึงปั้นส่งขายจนมีชื่อเสียง เนื่องจากเป็นครกที่ดีมีคุณภาพ เพราะมีปัจจัยพื้นฐาน คือวัตถุดิบเรื่องดิน ที่ขุดมาจากท้ายหมู่บ้าน เป็นดินที่มีคุณภาพเหมาะกับการปั้นครกที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ไม่ต้องมีส่วนผสม “ในอดีตชาวบ้านจะใช้วิธีการปั้นแบบภูมิปัญญาชาวบ้านคือใช้มือหมุน คนหนึ่งหมุนอีกคนขึ้นรูป จนมีการพัฒนาใช้เครื่องทุ่นแรง ทำให้สามารถปั้นได้จำนวนมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยแต่ละวันถ้าใช้มือจะปั้นได้วันละ 40-50 ใบ ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นเครื่องหมุนไฟฟ้า และมีแบบพิมพ์เข้ามาช่วย ทำให้ปั้นครกได้จำนวนมากขึ้นถึงวันละ 150 ใบ” นายสุนทร กล่าว
ด้าน นายสุรศักดิ์ สุวรรณะ อายุ 62 ปี สมาชิกเครือข่ายปั้นครกบ้านกลาง เปิดเผยว่ารับช่วงจากพ่อเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ญาติพี่น้องรวมทั้งในครอบครัวตน ต่างยึดอาชีพปั้นครกกันทั้งนั้น เคยเอาครกจากจังหวัดอื่นมาเปรียบเทียบก็พบว่าคุณภาพจะไม่สู้ของชุมชนบ้านกลาง ความพิเศษอยู่ตรงดินที่นำมาปั้น จังหวัดอื่นก็มีดินลักษณะใกล้เคียงกัน แต่จะมีเศษหินปนเยอะ ต่างจากดินที่นี่มีหินน้อยถึงไม่มีเลย เวลาขุดจึงต้องใช้แรงคนเพื่อช่วยคัดเอาหินออก ถ้าใช้แบ็คโฮขุดจบเลย
ส่วนขนาดครกจะมี 5 ขนาด คือ 1.จัมโบ้ ราคาส่ง 150 บาท 2.ใหญ่ 55 บาท 3.กลาง 38 บาท 4.เล็ก 33 บาท และ 5.จิ๋ว 28 บาท ออเดอร์มีสั่งเข้ามาทุกวัน จากพ่อค้าในทุกภูมิภาค ภาคอีสานจะมาจากจังหวัด อุบลฯ,ขอนแก่น,ร้อยเอ็ด,มหาสารคาม ฯลฯ เป็นหลัก โดยเฉพาะหน้าฝนต้องสั่งจองล่วงหน้านับเดือน เนื่องจากสภาพอากาศถ้าฝนชุกการตากครกจะแห้งช้า ส่วนหน้าแล้งไม่มีปัญหา
สำหรับขั้นตอนการปั้นไม่ยุ่งยากใช้ความชำนาญตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เริ่มจากนำดินที่ขุดได้ท้ายหมู่บ้าน หรือซื้อจากชาวบ้านด้วยกัน คิวละ ประมาณ 350 บาท ปั้นได้ประมาณ 80 -100 ใบแล้วแต่ขนาด ที่สำคัญต้องใช้คนขุดห้ามใช้เครื่องจักร เพราะใช้แรงคนเขาจะคัดก้อนหินที่ปะปนมาออกให้ ก่อนจะนำดินมาทุบแช่น้ำบ่มให้เกิดความนุ่ม ประมาณ 1-2 คืน และนำมานวดด้วยมือให้ละเอียด หรือเข้าเครื่องบดอักออกมาเป็นแท่ง นำไปแบ่งเป็นส่วนลักษณะเป็นแท่งยาว เพื่อสะดวกในการปั้นขึ้นรูป
เริ่มจากฐานครกไปจนถึงปากครก พอเก็บรายละเอียดขึ้นรูปสำเร็จ ต้องนำครกไปตากแห้งโดยธรรมชาติ ประมาณ 4-5 วัน ก่อนที่จะเข้าเตาเผา แล้วนำออกมาพร้อมขาย ซึ่งต้องมีความชำนาญพอสมควร และเป็นอาชีพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ปัจจุบันยังได้มีการสืบทอดให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ไม่ให้อาชีพปั้นครกสูญหาย ปัจจุบันชาวบ้านมีอาชีพปั้นครกกว่า 50 ครัวเรือน โดยตั้งเป็นกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านกลาง ภายหลังได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ละปีมีรายได้เงินหมุนเวียนสะพัดไม่ต่ำกว่าปีละ 50 ล้านบาท เพราะมีตลาดต้องการไม่อั้น เนื่องจากเป็นครกที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากดินมีคุณภาพสูงเหมาะสำหรับปั้นครก
โดยครกที่ผลิตจากบ้านกลาง มีจุดสังเกตดังนี้เอามือลูบจะสะดุดมือเป็นเนื้อหยาบผิวไม่เรียบเหมือนที่อื่น เนื่องจากแหล่งที่มาของดินมีทรายปน ปัจจุบันนำทรายในแม่น้ำโขงซึ่งมีแร่เหล็กปะปนมาผสม ทำให้ครกมีความแกร่งเพิ่มมากขึ้น เวลาเคาะจะมีเสียงกังวานคล้ายเสียงระฆัง ที่ผลิตอื่นเคยลองเอาทรายแม่น้ำโขงไปผสมก็ไม่ได้ผล แต่ทรายดังกล่าวกลับเข้ากับดินบ้านกลางได้เป็นอย่างดี สิ่งนี้จึงไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ หากใครสนใจศึกษาดูงาน หรือสั่งซื้อสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 082-1985767