ข้อเท็จจริง“รุกที่รถไฟ 5 พันไร่” ที่ดิน“เขากระโดง” บุรีรัมย์ EP#1 : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3658 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4- 6 ก.พ.2564 โดย… บากบั่น บุญเลิศ
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นับเป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในประเทศไทย แต่ปรากฏว่า มีการบุกรุกของประชาชนมากที่สุด และมีการนำที่ดินไปบริหารจัดการที่ได้ผลตอบแทนน้อยที่สุดในประเทศไทยเช่นเดียวกัน
ล่าสุดในปี 2553 รฟท. มีที่ดินในการครอบครองราว 234,976 ไร่ ในการประเมินราคา ณ ปี 2553 พบว่ามีมูลค่ามากถึง 377,355 ล้านบาท
ที่ดินที่อยู่ในการครอบครองของ รฟท.แบ่งเป็น พื้นที่เขตทาง 189,586 ไร่ (คิดเป็น 80.68% ของที่ดินรวม) พื้นที่บ้านพัก/ที่ทำการ 3,755 ไร่ (1.6%) พื้นที่ย่านสถานี (วางราง) 5,333 ไร่ (2.27%),
พื้นที่อื่นๆ (เพื่อการพาณิชย์) ที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ 36,302 ไร่ (15.45%) ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่พัฒนาศักยภาพต่ำ 21,536 ไร่ เป็นพื้นที่พัฒนาศักยภาพกลาง 7,218 ไร่ เป็นพื้นที่ศักยภาพสูง เช่น ที่ดินบริเวณสถานีมักกะสัน ย่านพหลโยธิน ย่านรัชดาภิเษก สถานีแม่น้ำ 7,547 ไร่
นี่คือที่ดินที่สร้างรายได้มีน้อย แต่ที่ดินที่ถูกบุกรุกนั้นมากมาย ในที่นี่จะขอโฟกัสลงไปในที่ดินอันโด่งดัง นั่นคือการบุกรุกที่ดินเนื้อที่ 5,083 ไร่ 0 งาน 80 ตารางวา บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่เป็นข้อพิพาทและนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งต้องติดตามกันว่า รัฐบาลจะเอาอย่างไร “ปล่อยไปเลยตามเลย-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมติดตามทวงคืนเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ”
เพื่อให้สาธารณะชนเกิดความกระจ่างชัด ผมขออนุญาตนำไทม์ไลน์การบุกรุกที่ดินเขากระโดง จนนำมาซึ่งการตัดสินของศาลฎีกา มาให้ทุกท่านได้ทัศนาและตอบคำถามตัวเองเพื่อเกิดปัญญาว่า ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นบรรทัดฐานในการติดตามทวงคืนที่ดินของรัฐคืนมา…
ย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2462 – มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ให้กรมรถไฟหลวง ตรวจและวางแนวทางรถไฟ ตั้งแต่นครราชสีมา (ข้ามลำน้ำมูลราว ต.ท่าช้าง,อ.พิมาย) ไปยังบุรีรัมย์จนถึง อุบลราชธานี (อ.วารินชำราบ) ให้เสร็จภายใน 2 ปี
• ที่ดินรกร้างว่างเปล่า (ห้ามผู้หนึ่งผู้ใดจับจองเป็นเจ้าของ) แต่งตั้งข้าหลวงพิเศษจัดการที่ดิน ดำเนินการปักหลักเขตที่ดินไว้ให้เห็นว่าเป็นเขตที่ดินของกรมรถไฟ และจัดทำแผนที่ไว้เป็นหลักฐาน
• ที่ดินที่มีการครอบครองก่อน 8 พ.ย.2562 (ห้ามมิให้เจ้าของนำที่ดินที่อยู่ในเขตที่ดินรถไฟตามที่ปรากฏในแผนที่ไปยกให้หรือขายซื้อ แลกเปลี่ยนกับผู้หนึ่งผู้ใด ห้ามมิให้สร้างบ้านเรือน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาตจากข้าหลวงพิเศษ) ได้มาโดยพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกรรมการจัดซื้อที่ดิน และจัดทำแผนที่ไว้เป็นหลักฐาน
• ข้าหลวงพิเศษที่ได้แต่งตั้งให้จัดการที่ดินในเขตพระราชกฤษฎีกาฯลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และกรมรถไฟหลวงเห็นว่า การก่อสร้างทางรถไฟมีความจำเป็นต้องใช้หินโรยทางจึงวางแนวและดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดงและบ้านตะโก อันเป็นแหล่งระเบิดและย่อยหิน มีระยะทาง 8 กิโลเมตร ในช่วง 4 กิโลเมตรแรก มีผู้เป็นเจ้าของที่ดินจำนวน 18 ราย ส่วนอีก 4 กิโลเมตรต่อไปจนถึงบริเวณที่มีการระเบิดและย่อยหิน เป็นป่าไม้เต็งรังโปร่ง ไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง
โดยในช่วง 4 กิโลเมตรหลัง มีความกว้างจากแนวกึ่งกลางทางรถไฟข้างละ 1,000 เมตร มีการจัดทำแผนที่และจัดทำบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดินจำนวน 18 ราย ระบุไว้ในแผนที่ด้วย ตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลาตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตร 375 – 650
เวลาผ่านไปราว 2 ปี 26 มีนาคม 2464 – 18 พฤษภาคม 2465 – กรมแผนที่ทหาร เริ่มจัดทำแผนที่บริเวณเดียวกัน
• ปรากฏทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตรงบริเวณที่ระบุว่า 375 กม. มีทางรถไฟเป็นเส้นโค้งแยกออกมาแสดงให้เห็นว่า ทางรถไฟที่แยกออกมาไปสิ้นสุดที่บริเวณหมายเลข 155 ถัดจากจุดที่ทางรถไฟสิ้นสุด มีลักษณะเป็นรอยทางผ่านป่าไม้เต็งรัง ไปสิ้นสุดที่บริเวณที่ระบุว่าเป็นโรงงานทุบหิน ถัดไปเป็นป่าไม้เต็งรังไปจนถึงเขากระโดง
15 สิงหาคม 2464 – มีพระราชบัญญัติจัดวางทางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้
• มาตรา 3 (2) “ที่ดินรถไฟ” หมายความว่า ที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาหรือเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟโดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย
• มาตรา 6 (1) ห้ามไม่ให้ยกกำหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟ หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของรถไฟ
(2) ห้ามไม่ให้เอกชน หรือบริษัทใด หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้นๆขาดจากเป็นที่ดินรถไฟแล้ว
(3) ห้ามมิให้ยึดที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง รถและพัสดุของรถไฟ
• มาตรา 20 ให้กรมรถไฟแผ่นดินเป็นธุระจัดการในเรื่องจัดหาซื้อที่ดินตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อสร้างทางรถไฟ
• มาตรา 25 จำเดิมแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดซื้อที่ดินในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังได้ระบุกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น ตกมาเป็นของกรมรถไฟแผ่นดินทันทีแต่กรมรถไฟแผ่นดินจะมีสิทธิเข้าปกครองยึดถือทรัพย์นั้นได้ต่อเมื่อได้ใช้เงินหรือวางเงินค่าทำขวัญแล้ว
ต่อมา 7 พฤศจิกายน 2464 – ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ขยายระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2464
– ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง
• ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 เฉพาะตอนตั้งแต่ตำบลท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งตรวจและวางแนวทางรถไฟได้แน่นอนแล้ว และให้ใช้พระราชนี้ แทนในเขตเดียวกัน
• ให้กรมรถไฟแผ่นดินเป็นธุระในเรื่องจัดหาซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นตามที่เห็นว่าจำเป็นในการสร้างทางรถไฟ จากตำบลท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดสุรินทร์ โดยที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งต้องจัดซื้อมีระบุไว้ท้ายพระราชกฤษฎีกาและให้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชกฤษฎีกาด้วย
27 กันยายน 2465 – ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง
• ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 และฉบับ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 ซึ่งตรวจและวางแนวทางรถไฟได้แน่นอนแล้วและให้ใช้พระราชนี้ แทนในเขตเดียวกัน
• ให้กรมรถไฟแผ่นดินเป็นธุระในเรื่องจัดหาซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นตามที่เห็นว่าจำเป็นในการสร้างทางรถไฟ จากจังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดอุบลราชธานี โดยที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งต้องจัดซื้อมีระบุไว้ท้ายพระราชกฤษฎีกาและให้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชกฤษฎีกาด้วย
• ในระหว่างการตรวจและวางแนวทางรถไฟ มีการจัดทำแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กม.375-650
กระทั่ง 5 มิถุนายน 2494 – ตราพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 จัดตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย
• มาตรา 10 ให้โอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของกรมรถไฟให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รับโอนกิจการและทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของกรมรถไฟแผ่นดินมาดำเนินการ และใช้ประโยชน์ในที่ดิน ตามพระราชกฤษฎีกา 8 พ.ย.2462 และ 7 พ.ย. 2464)
• มาตรา 16 พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงพระพุทธศักราช 2464 และบรรดากฎข้อบังคับที่ได้ออกตามพระราชบัญญัตินั้นให้คงใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้เพียงเท่าที่มิได้ มีความบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้และที่มิได้มีความขัดหรือแย้งต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์แห่งการนำพระราชบัญญัติและกฎข้อบังคับดังกล่าวในวรรคก่อน มาใช้บังคับต่อไป ให้อ่านคำบางคำในพระราชบัญญัติและกฎข้อบังคับนั้นดังต่อไปนี้ คำว่า กรมรถไฟแผ่นดิน และคำว่า กรมรถไฟ ให้อ่านว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย คำว่า ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน และคำว่า อธิบดีกรมรถไฟ ให้อ่านว่า ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
ต่อมา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2498 หลังประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ออกใช้บังคับ…
• การรถไฟฯ ไปขอออก ส.ค.1 ที่ดินบริเวณใกล้ทางรถไฟที่ดิน 5,083 ไร่ 80 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวเคยเป็นป่าไม้และภูเขา อันเป็นที่หลวง ยังไม่มีใครจับจองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ตามธรรมดารัฐย่อมจัดใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ร่วมกันได้ ที่ดินจึงเป็นที่ดินของการรถไฟที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ.มาตรา1304 ไม่มีเอกชนรายใดอ้างสิทธิ์ครอบครองได้
เรื่องมาบานปลายเอาเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2513 ได้ประชุมร่วมระหว่างการรถไฟฯ กับผู้บุกรุก โดยผู้บุกรุกรับว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ นายชัย ชิดชอบ (เสียชีวิต) ขออาศัยที่ดินพิพาทจากการรถไฟฯ และการรถไฟฯได้ยินยอมให้อาศัย
กระทั่ง วันที่ 26 ตุลาคม 2515 นายชัยฯ ได้นำที่ดินไปออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟเป็นโฉนดเลขที่ 3466 เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 558/10 ตารางวา (ในชื่อนายชัย………ต่อมา วันที่ 21 ธ.ค. 2535 ได้ขายให้นางละออง ชิดชอบ และนางละอองฯขายให้บริษัท ศิลาชัย)
เมื่อมี 1 ก็ต้องมี 2 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2518 นายประพันธ์ สมานประธาน ได้ออกโฉนดเลขที่ 8564 เนื้อที่ 37 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวา มีการขายต่อเป็นทอดๆ จนเมื่อ 14 ก.ค.2540 ได้ขายให้ นางกรุณา ชิดชอบ ซึ่งนางกรุณานำไปจำนองต่อธนาคารกรุงไทย โดยที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ออกหนังสือถึงธนาคารกรุงไทยเลขที่ 13129/8567 แจ้งและยืนยันว่าที่ดินอยู่ในเขตทางรถไฟ (30 ต.ค.2540)
มหากาพย์การบุกรุกเพื่อครองครองที่ดินรถไฟในพื้นที่บุรีรัมย์ กำลังเดินหน้าไปสู่ข้อพิพาทและการต่อสู้กันระหว่าง ผู้ครองครองสิทธิ์ที่เป็นเอกชน กับ การรถไฟ เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่ใช่จุดจบของเรื่อง มาตามกันต่อนะครับในตอนต่อไป EP#2