สมคิด เผยกมธ.ข้างมาก โหวตให้อำนาจประชาชนสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ต้องผ่านมติจากรัฐสภา พบ “ฝั่งส.ว.” คนเสนอให้ ขีดกรอบ “ส.ส.ร.” ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังทำรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) รัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่มติของกมธ.ฯ ไม่บัญญัติห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังจากทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ว่า มีกมธ. เสนอให้พิจารณา ซึ่งตนเข้าใจว่าฝั่ง ของส.ว. เป็นผู้เสนอ โดยเห็นว่าส.ส.ร.ควรมีข้อห้ามกลับมาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า กมธ.ฯ ไม่ควรกำหนดรายละเอียดดังกล่าวไว้ หากส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องการห้ามตนเอง ควรให้ไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ส.ส.ร.จะยกร่าง ส่วนกรณีดังกล่าวที่อาจมีสมาชิกรัฐสภา เห็นต่างและถูกทักท้วงนั้น ตนเชื่อว่ากมธ.ฯ ชี้แจงได้
“กมธ.ฯ ไม่ควรไปกำหนดข้อห้ามไว้ เพราะอาจจะย้อนแย้งได้ว่า กมธ.ฯ ไปกีดกันเขา เนื่องจาก ส.ส.ร.ที่มาจากเลือกตั้ง 200 คน ต้องให้สิทธิเขาพิจารณาเอง หากกรณีนี้จะมีคนครหาว่าส.ส.ร.เขียนกติกาเพื่อตัวเองนั้น เชื่อว่าตามระบบ กติกา และการตรวจสอบทางสังคมจะจับตา” นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวด้วยว่า กมธ. ยังได้พิจารณาในมาตราสุดท้ายของเนื้อหาแล้วเสร็จ โดยได้พิจารณาให้อำนาจประชาชนสถาปนารัฐธรรมนูญ หลังจากที่ส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ กำหนดให้นำเข้ารายงานต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาโดยไม่มีการลงมติตัดสิน ซึ่งตามร่างที่ใช้เป็นหลักนั้นกำหนดว่าต้องให้รัฐสภาลงมติ ทำให้เมื่อรัฐสภาพิจารณาแล้วเสร็จ ต้องนำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อออกเสียงประชามติโดยประชาชน ซึ่งประเด็นดังกล่าวใช้เวลาอภิปรายนานพอสมควรก่อนจะใช้เสียงข้างมากตัดสิน
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะ รองประธานกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ คนที่สาม กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าสำหรับเนื้อหาที่กมธ.ฯ เขียนเพิ่มเติมจากบทบัญญัติที่เสนอ คือ มาตรา 256 (9) ว่าด้วยก่อนนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้สิทธิ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เข้าชื่อเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ใน 3 กรณี คือ 1.ขัดมาตรา 255 , 2.มีลักษณะที่แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป, หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจหน้าที่ของศาล องค์กรอิสระ หรือทำรเื่องให้ศาลหรือองค์กรอิสะรปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ และ 3.หากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ถูกต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ.