สยามรัฐออนไลน์
26 มีนาคม 2564 20:04 น.
ข่าวทั่วไทย
อพท
วันที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 14.00 น ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจังหวัดศรีสะเกษ นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)พร้อมด้วยนายพลากร บุปผาธนากร ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และรักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 อพท.และคณะได้มาประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษประกอบด้วยนายประหยัด ถิลา วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ดร. กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสากรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท สำนักงานสุรินทร์ นางวัชรี ธนบูลย์พิพัฒน์ นางกาญจนา ไพรวัลย์จากสำนักวัฒนธรรมและภาคีเครือข่ายร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วย ผอ. อพท.กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการมาจังหวัดศรีสะเกษเพราะอยากให้ชุมชนในศรีสะเกษพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อารยธรรมอีสานใต้ เพื่อให้ชุมชนได้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้ สัมผัสกับคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมด้วยตัวเอง จะทำให้นักท่องเที่ยวดื่มด่ำ ประทับใจ ใช้ Story Telling การเล่าเรื่อง สื่อความหมาย ให้เขาสัมผัสประสาททั้ง5 ในคุณค่าอัตลักษณ์วิถีไทย ให้นักท่องเที่ยว ว๊าว ใช้จ่ายเงินมาก โดยใช้เครื่องมือต่างๆมาหนุนเสริม มาประเมินว่าชุมชนไหนพร้อมมาแล้วประทับใจกลับไปแล้วบอกต่อ
นายพลากร บุปผาธนากร ผอ.สำนักยุทธศาสตร์และรักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 อพท. กล่าวว่า พื้นที่อีสานใต้ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี ในปี 2563 ทาง อพท. 2 ได้พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมใน 3 จังหวัดคือ นครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ รวม 10 กิจกรรมคือ 1.กิจกรรมเพลงโคราช 2.กิจกรรมรำโทนพันปี 3.กิจกรรมเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน 4.กิจกรรมผ้าภูอัคนี 5. กิจกรรมผ้าไหมหางกระรอกคู่ตีนแดง 6.กิจกรรมนวดไทยคลายเส้น 7. กิจกรรมวิถีคนเลี้ยงช้าง 8.กิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมชาวกูย 9. กิจกรรมศิลปะการแสดงกะโน้บติงตอง และ 10. กิจกรรมศิลปะการแสดงกันตรึม ส่วนในปีงบประมาณ 2564 จะพัฒนาอีก 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี
ดร. กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสากรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษกล่าวว่า สองปีที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวศรีสะเกษได้รอ อพท ให้มาพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวของชุมชนละทาย มาถึงปีนี้มีชุมชนเกิดขึ้นให้เลือกอีกมากมายหลายแห่งที่อยากให้อพท.มาพิจารณา เช่นชุมชน บ้านหว้าน ชุมชนบ้านกู่ ชุมชนทอผ้าโบราณพิงพวย อยากให้มาเติมเต็มส่วนที่ยังขาดของชุมชน มาแนะนำว่าทำอย่างไรถึงจะดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวชุมชนได้
นายประหยัด ถิลา วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า โครงการ บวร On Tour ของกระทรวงวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นทั้งภูมิสังคม ภูมิปัญญาและภูมิทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาต่อยอดให้เกิดคุณค่าอย่างสร้างสรรค์ เป็นแนวทางเดียวกับที่ อพท ทำเช่นที่บ้านกู่ อำเภอปรางค์กู่ และยังมีอีกหลายแห่งที่มีความพร้อม จึงอยากให้ อพท ร่วมบูรณาการทำงานร่วมกับวัฒนธรรมต่อไป