- Line
พลังงานหมุนเวียนนับเป็นพลังงานสะอาดจากธรรมชาติที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะการนำพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ แต่พลังงานเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่มีความผันผวนตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น โซลาร์เซลล์ จะผลิตไฟฟ้าได้ก็ต่อเมื่อมีแสงแดดและต้องมีความเข้มแสงที่เหมาะสมเท่านั้น จึงยังทำให้ไม่สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ มาผลิตไฟฟ้าเป็นหลักได้เมื่อเทียบกับพลังงานจากเชื้อเพลิงประเภทอื่น
ในวันนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำโซลาร์เซลล์มาติดตั้งบนทุ่นลอยอยู่เหนือผิวน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งนอกจากจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้แล้ว ยังนำนวัตกรรมระบบผสมผสานหรือระบบไฮบริด (Hybrid) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในเขื่อนที่มีอยู่เดิมเพื่อเสริมในช่วงเวลาที่ไม่มีแสงแดดได้อีกด้วย นับว่า กฟผ. ได้นำนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดกับพลังน้ำมาผลิตไฟฟ้าเป็นรายแรกในประเทศไทยอีกด้วย
1.เพื่อความมั่นคงทางพลังงานหมุนเวียน
การผลิตไฟฟ้าระบบไฮบริด (Hybrid) ของโครงการแห่งนี้ คือการผสมผสานระหว่าง “พลังงานแสงอาทิตย์” ร่วมกับ “พลังน้ำ” โดยนำโซลาร์เซลล์มาผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันที่มีปริมาณความเข้มของแสงเพียงพอ และนำพลังน้ำมาเสริมในช่วงที่ความเข้มแสงไม่เพียงพอ ในช่วงเวลากลางคืน รวมถึงช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก (Peak) ทั้งยังได้นำระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาควบคุมการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าทั้งสองชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ
2.โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ใหญ่ที่สุดในโลก
กฟผ. ได้ริเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อน กฟผ. ด้วยระบบผสมผสานหรือระบบไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) โดยนำร่องแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร’ มีขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดกับพลังน้ำแห่งแรกของประเทศไทย และยังเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดกับพลังน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย โดยขณะนี้โครงการฯ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และเตรียมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน 2564
3.สร้างประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรเดิม
โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร มีขอบเขตพื้นที่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรประมาณ 760 ไร่ โดยติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์อยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ผิวน้ำไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด นอกจากนี้ โครงการยังใช้ทรัพยากรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธรที่มีอยู่เดิมให้เกิดความคุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูง และระบบส่งไฟฟ้า จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าให้ต่ำลง 4.เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กฟผ. ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิลกลาส (Double Glass) ซึ่งเป็นแผ่นกระจกทั้งด้านบนและด้านล่าง สามารถป้องกันความชื้นซึมเข้าสู่แผงเซลล์ได้ดี ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ปลอดภัยต่อการใช้งาน นอกจากนี้ยังใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทุ่นลอยน้ำไม่ได้ปกคลุมผิวน้ำทั้งหมด มีส่วนที่เป็นช่องเปิดให้อากาศถ่ายเทเข้าสู่ผิวน้ำได้และแสงสามารถส่องผ่านลงใต้น้ำได้ ที่สำคัญ โครงการพลังงานสะอาดแบบผสมผสานแห่งนี้ ยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี หรือคิดเป็นพื้นที่ป่าประมาณ 37,600 ไร่ (อ้างอิงจากงานวิจัยของ กฟผ.) ทั้งยังช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศอีกด้วย
5.แหล่งเรียนรู้พลังงานหมุนเวียนและจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ (Landmark) ของจังหวัดอุบลราชธานี
โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรแห่งนี้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานด้านพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสานแห่งใหม่ให้กับนักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไปทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ กฟผ. ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี ได้พัฒนาพื้นที่ภายในโครงการให้เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด รวมถึงชุมชนท้องถิ่น ประกอบไปด้วย เส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) ความสูง 5 – 10 เมตร ความยาวประมาณ 415 เมตร และอาคารอเนกประสงค์ต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมวิวแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในมุมสูงท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่นของมวลหมู่ต้นไม้ประจำท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดในภาพรวมอีกด้วย6.ประโยชน์จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
กฟผ. จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามอัตราที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด ชุมชนสามารถนำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่างๆ เช่น ด้านคุณภาพชีวิต ด้านอาชีพ การเกษตร การศึกษา และด้านสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อสนับสนุนด้านการส่งเสริมอาชีพของชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มประมง กลุ่มย้อมผ้าทอมือ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากปลาซิวแก้ว กลุ่มจักสานไม้ไผ่ กลุ่มเรือ-แพท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน7.ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ
โครงการฯ ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการร่วมแสดงข้อคิดเห็น พร้อมให้ข้อเสนอแนะ และประเด็นข้อห่วงกังวลในเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ และจากการลงพื้นที่พบปะชุมชน ตั้งแต่ก่อนเริ่มดำเนินโครงการ เพื่อพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และตอบสนองการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้มากที่สุดมุ่งมั่นพัฒนาพลังงานสะอาดอย่างไม่หยุดยั้ง
กฟผ. ได้เตรียมแผนพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดบริเวณเขื่อนอื่นๆ ของ กฟผ. อีก 9 เขื่อน ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ ตลอดจนมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของพลังงานหมุนเวียน พร้อมสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสภาพอากาศให้กับโลกใบนี้ และเพื่อให้คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน