“ทีซีดีซี” ตั้งขึ้นตามยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ
มีเป้าหมายคือกระตุ้นให้คนไทยเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ
สามารถสร้างมูลค่าสินค้าและบริการ ทำให้คนไทยมีรายได้เพิ่ม
วันก่อนเดินทางไปจังหวัดขอนแก่น พบว่าที่นั่นก็มี ทีซีดีซี
ทีซีดีซีขอนแก่น ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น อาคารที่ตั้งมีดีไซน์สวยงาม
วันนั้น มีโอกาสโฉบไปดูนิทรรศการเรื่องพลาสติกนิดหน่อย เพราะมีเวลาน้อย
ก่อนกลับแวะดูเอกสารที่ทีซีดีซีทำไว้เผยแพร่
เอกสารชิ้นหนึ่งชื่อว่า “แผนที่วัตถุดิบในภาคอีสาน” น่าสนใจ
เป็นเอกสารที่ทีซีดีซีให้ชื่อว่า “ลายแทงวัตถุดิบอีสานที่พร้อมเสิร์ฟตามฤดูกาล”
เป็นข้อมูล วัตถุดิบที่มีในภาคอีสานที่สามารถใช้ประกอบอาหารอีสานได้
เอกสารชิ้นนี้ ทีซีดีซีร่วมกับร้านซาหมวยแอนด์ซันส์ จ.อุดรธานี จัดทำขึ้น
จัดทำเป็น “ลายแทง” วัตถุดิบอาหาร พร้อมมีคำอธิบายว่าวัตถุดิบไหนหาได้ในฤดูกาลใด
เริ่มจากฤดูร้อน เอกสาระบุว่า ช่วงฤดูร้อน บริโภคผักผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยคลายร้อน
พืชผักผลไม้ มีอาทิ ย่านาง ดอกติ้ว ผักติ้ว หมากผีผ่วน ตำลึง ฟ้าทะลายโจร ผักหวานป่า ใบบัวบก ใบมะยม กระโดนย่านาง กระโดน ใบหมาน้อย ต้นและดอกอ่อมแซ่บ
ผักเสี้ยน ดอกแค ผักกูด ผักหนาม ผักกาดฮีน ผักลิ้นปี มะม่วงเปรี้ยว หมากบก มะขามป้อม ตะขบ กระถิน
อาหารที่ให้โปรตีนในฤดูกาลนี้ก็มี ไข่มดแดง มดแดง จักจั่น รวมไปถึงหอยจำพวกต่างๆ
พร้อมกันนั้นยังระบุสถานที่ซื้อหาวัตถุดิบ
อาทิ เครือข่ายเกษตรกรคนรุ่นใหม่ภาคอีสานตอนบน ขอนแก่น สวนผักคนเมืองขอนแก่น อีสานอารมณ์ดี อุบลราชธานี เครือข่ายเกษตรยั่งยืน มหาสารคาม ตลาดปันสุข สุรินทร์
หรือจะซื้อไข่ไก่จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ บึงปากเขื่อน จ.ขอนแก่น ก็มีขาย
จากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ประมาณตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเพาะปลูกข้าว
ตลอดหน้าฝนพืชผักต่างๆ เติบโต ทั้ง ผักกูด ผักกาดหญ้า ผักแว่น ผักโขม ผักบัวสด ข่าอ่อน ดอกขจร ดอกหลอด ผักหนาม ผักบะแบง กระชายอ่อน ดอกข่าว ผักสะแงะ ดอกกระเจียว ใบส้มโมง หน่อไม้
รวมถึงเห็ดต่างๆ เช่น เห็ดไค เห็ดหล่ม เห็ดป่า เห็ดตาโล่ เห็ดโคน เห็ดตับเต่า เห็ดเผาะ เห็ดก่อ เห็ดระโงก เห็ดหล้าแหล่ เห็ดผึ้ง
ฤดูกาลนี้คนอีสานมักจะถนอมอาหารเก็บไว้กินตลอดปีด้วยการทำปลาร้า
มีโปรตีนหลากหลายชนิดที่หาได้จากท้องถิ่น เช่น ปลาขาว ปลาซิว ปลายสร้อย ปลาตะเพียน ปลาช่อน รวมไปถึงปลาน้ำโขง
แหล่งซื้อหาวัตถุดิบ เช่น ตลาดนัดเป็งจาน จ.บึงกาฬ ตลาดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย ตลาดเช้าเทศบาล 2 จ.อุดรธานี ตลาดป่าบ้านห้วยเดื่อ จ.หนองบัวลำภู ตลาดปลาสด แม่น้ำศรีสงคราม จ.นครพนม ตลาดปลา อุบลราชธานี ตลาดสีเขียว จ.ขอนแก่น เป็นต้น
พอเข้าสู่ฤดูหนาวก็ถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยวข้าว พืชจำพวกเหง้าหรือรากก็เติบโต นำไปเป็นอาหารได้
เช่น ขมิ้น เผือก มัน ฟักทอง ผักขะแยง ฟักข้าว ตะลิงปลิง เพกา ขี้เหล็ก ผักขี้หูด มะรุม ผักชีลาว จักด่านหรือสะด้าน มะเดื่อ ผักปลัง ผักเฮือด สะเดา ผักไผ่ และผักฮ้วนหมู
นอกจากนี้ อีสานยังมีฟาร์มปศุสัตว์หลายแห่ง
เช่น ฟาร์มวากิวศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย มีเนื้อวากิวให้ลิ้มลอง สหกรณ์โคขุนโพนยางคำ จ.สกลนคร ที่นี่ก็ดัง
ปศุสัตว์เป็ด ไก่ ไข่ จากหมู่บ้านพ่อสวาท จ.ขอนแก่น พร้อมให้บริการ
ด้านข้าวเจ้าข้าวเหนียวในภาคอีสานก็มีให้เลือก
อาทิ ยโสธรมีข้าวอินทรีย์พื้นเมือง ที่มหาสารคามมีข้าวพื้นเมืองหอมใบเตย
จังหวัดสกลนคร มีข้าวหอมดอกฮัง และข้าวเหนียวลืมผัวที่ จ.สุรินทร์ เป็นต้น
หน้าหนาวอากาศเย็น อีสานมีสาโทเอาไว้ดื่มสร้างความอุ่น
เอกสารชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า แต่ละภูมิภาคมีวัตถุดิบที่มีเอกลักษณ์
แต่ละภูมิภาคมีวิธีการปรุงอาหารเป็นของตัวเอง
แต่ละฤดูกาลมีวัตถุดิบและวิธีการปรุงอาหารที่หลากหลาย
นี่แค่ภาคอีสานเท่านั้น ขณะที่ประเทศไทยยังมีภาคเหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันตก และภาคใต้
และที่กล่าวมามีแค่วัตถุดิบด้านอาหารเท่านั้น
แต่ละภาคของไทยยังมีวัตถุดิบด้านอื่นๆ อีก
วัตถุดิบเหล่านี้ เมื่อบวกกับไอเดียสร้างสรรค์ ผลักดันให้ชุมชน หมู่บ้าน ผลิตสินค้าและบริการอย่างมีเป้าหมาย
หาวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น รายได้ของชาวบ้านก็จะได้มากขึ้น
แผนที่วัตถุดิบเช่นนี้ น่าจะขยายผล และเผยแพร่
อย่างน้อยผู้บริโภคที่รู้จะได้สั่งซื้อหา ยิ่งปัจจุบันการสื่อสารผ่านทางออนไลน์มีประสิทธิภาพ
คนทั้งในและนอกภูมิภาคได้รับทราบและอุดหนุน
บางคนนำไปอุปโภคบริโภค บางคนนำไปต่อยอดทางธุรกิจ
ไทยอุดหนุนไทย สร้างรายได้กันเองภายในชาติ
นอกจากจะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ท้องถิ่นพึ่งพาตนเองได้แล้ว
ยังทำให้เงินสะพัดในประเทศ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกด้วย
นฤตย์ เสกธีระ