เผยแพร่:
ปรับปรุง:
นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงผลการปฏิบัติการต่อต้านการลักลอบครอบครองสัตว์ป่าในกิจการสวนสัตว์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของ มุกดาสวนเสือและฟาร์ม จังหวัดมุกดาหาร หลังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจสอบกิจการสวนสัตว์ดังกล่าวพบเข้าข่ายลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ว่า จากการตรวจพิสูจน์ DNA จากทั้ง 2 แห่ง พบมีผลตรงกันคือ เสือโคร่งข้าวเม่าและข้าวเปลือก ไม่มีความสัมพันธ์เป็นพ่อ-แม่-ลูก กับโดโด้และมะเฟือง ขณะที่ข้าวเหนียว ไม่มีความสัมพันธ์เป็น พ่อ-แม่-ลูก กับให้ลาภและให้ทอง รวมถึง เสือโคร่งตัวอื่นๆในกิจการสวนสัตว์ 20 ตัว ตามที่เจ้าของกิจการกล่าวอ้างไว้ โดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบกิจการสวนสัตว์มุกดาสวนเสือและฟาร์ม ของนายประดิษฐ์ ธรรมเวช เนื่องจากได้กระทำความผิดกฎหมายพระราชบัญญัติสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้แจ้งข้อหาในเบื้องต้น 3 ข้อหา คือ มีความผิดตาม มาตรา 17 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ฐานผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ มาตรา 267 ฐานผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามเจ้าหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในเบื้องต้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการสวนสัตว์ไม่เกิน 90 วัน นับเป็นการพักใช้ใบอนุญาตฯ ครั้งที่ 2 ในระยะเวลา 1 ปี หลังจากถูกพักใช้ไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา เป็นเวลา 30 วัน ทำให้มุกดาสวนเสือและฟาร์ม จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสวนสัตว์ภายหลังตามกระบวนการกฎหมาย จากนั้นกรมอุทยานฯ จะตรวจสอบหาแหล่งที่มาที่ไปของเสือโคร่ง ว่าจับมาจากแหล่งธรรมชาติ หรือมีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างสวนสัตว์ต่อไป
ด้านนางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ได้เก็บตัวอย่างเสือโคร่ง 8 ตัว ประกอบด้วย ข้าวยำ ข้าวกล่ำ ข้าวจ้าว ข้าวเม่า ข้าวเปลือก ให้ลาภ ให้ทอง และข้าวเหนียว เพื่อดูความเชื่อมโยงของ DNA ว่าเสือโคร่งเหล่านี้มีที่มาอย่างไร และเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 กรมอุทยานฯ ได้ตรวจสอบ ตรวจยึดเสือโคร่ง 3 ตัว อายัดเสือโคร่ง 4 ตัว และซากเสือ 1 ซาก แล้วนำไปตรวจสอบพันธุกรรมและความสัมพันธุ์ พ่อ-แม่-ลูก โดยศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เมื่อช่วงต้นปีนี้ อยู่ระหว่างรอผล DNA และสายพันธุ์ของเสือโคร่ง