เปิดขุมทรัพย์โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ “โซลาร์ฟาร์ม ทบ.-โซลาร์ลอยน้ำ-โรงไฟฟ้าชุมชน” เล็งเพิ่มกำลังผลิต 10 ปีข้างหน้าอีก 4,000 MW จ่อเสียบเข้าแผน PDP ฉบับใหม่ จับตาผลศึกษาอภิมหาโครงการโซลาร์ฟาร์มของกองทัพบก สวนทางไฟฟ้าสำรองล้นทะลักเอกชนวิ่งวุ่นหาช่องลงทุนเพิ่ม ชี้ไม่ลดสำรองแห่สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ประชาชน-ภาคธุรกิจแบกรับภาระค่าไฟเพิ่มบาน
ในระหว่างที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (แผน PDP) ฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 Rev.1 ที่ใช้กันมาไม่ต่ำกว่า 4 ปี ท่ามกลางสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากความ “ผิดพลาด” ในการทำแผน PDP ฉบับเดิม การขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) มากเกินไป การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศไทย ตกอยู่ในภาวะ “ล้นเกิน” ขนาดหนัก
ภาวะไฟฟ้าสำรองล้นเกินที่เกิดขึ้น ทำให้ในช่วง 10 ปีนับจากนี้ ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าสู่ระบบ นั่นหมายถึงโรงไฟฟ้าใหม่ (ยกเว้นโรงไฟฟ้าที่สร้างทดแทนโรงไฟฟ้าที่ถูกปลดออกจากระบบ) ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการภาคเอกชนรายเล็ก-รายใหญ่ “ไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น”
จับตา 3 โครงการโรงไฟฟ้าใหม่
แหล่งข่าวในวงการผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีโครงการขนาดใหญ่ที่จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าไปในระบบในช่วง 10 ปีแรกของแผน PDP ฉบับที่กำลังจัดทำโดยกระทรวงพลังงาน จะมีอยู่ 3 โครงการที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ 1) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากสมัยของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนที่ผ่านมา โดยสถานะโครงการนี้ล่าสุด ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ปิดการรับฟังความเห็นไปแล้ว เบื้องต้นจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการนำร่องรวม 150 เมกะวัตต์ (MW)
2) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-Floating Solar Hybrid Project) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 16 โครงการ ใน 9 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 2,725 MW ในขณะนี้ได้เริ่มโครงการแรกไปแล้วที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี จำนวน 45 MW กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) ในปี 2564 มูลค่าโครงการ 842 ล้านบาท ปรากฏกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ร่วมกับพันธมิตรจากจีน ในนามของ B.GRIMM POWER-ENERGY CHINA CONSORTIUM เสนอราคาประมูลต่ำสุด เป็นผู้ชนะไป
และ 3) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมที่อยู่ในการดูแลของกองทัพบก (ทบ.) หรือโครงการโซลาร์ฟาร์ม ตั้งเป้าโครงการนำร่องที่ ต.แก่งเสี้ยน อ.เมืองกาญจนบุรี จำนวน 300 MW ในพื้นที่ 3,000 ไร่ จากทั้งโครงการที่จะใช้เนื้อที่ถึง 300,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของ ทบ. สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 30,000 MW โดยสถานะล่าสุดของโครงการได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก กับนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการภายในเวลา 3 เดือน ในลักษณะของกองทัพบกมีพื้นที่ที่จะติดตั้งแผงโซลาร์ ส่วน กฟผ.มีเทคโนโลยีในการทำโรงไฟฟ้า
ทั้งนี้ พล.ท.รังสี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ในฐานะตัวแทนของกองทัพบก และผู้ริเริ่มแนวคิดโครงการกล่าวว่า ตลอดทั้งโครงการจะใช้เงินลงทุนประมาณ 600,000 ล้านบาท โดยจะระดมมาจากภาคเอกชน และการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 1 บาท/หน่วย ส่วนแผงโซลาร์อาจจะใช้วิธี barter trade กับประเทศผู้ผลิตโดยแลกกับสินค้าเกษตรไทย โดยในวันเปิดตัวโครงการ มีภาคเอกชน อาทิ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มกับ ทบ.ด้วย
วิ่งวุ่นหากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่
สำหรับปริมาณสำรองไฟฟ้า “ล้นเกิน” ซึ่งเป็นตัวกำกับความต้องการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบในแผน PDP และกลายเป็นสาเหตุของ “ต้นทุน” ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนแบกรับจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย ล่าสุดพบว่าปี 2563 ประเทศไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงถึง 36% และจะคงอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงปี 2571 ที่ปริมาณสำรองจะลดลงมาอยุู่ที่ระดับ 17% ไปจนกระทั่งถึงปี 2580 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในการจัดทำแผน PDP ฉบับล่าสุด ปริมาณสำรองไฟฟ้าจะอยู่ในระดับประมาณ 16% โดยตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีแรกของแผน PDP ที่กำลังแก้ไขปรับปรุงกันอยู่นั้น “ประเทศไทยไม่ต้องการโรงไฟฟ้าหรือกำลังผลิตใหม่” มีแต่จะต้องพยายามลดกำลังผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินลง ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ หรือลดการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ไปจนกระทั่งถึงหาทางขายไฟออกนอกประเทศ
“ตรงนี้เป็นสาเหตุสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ จะต้องวิ่งหากำลังการผลิตจากโครงการใหม่ ๆ ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น ยกตัวอย่าง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อหน่วยอยู่ที่ประมาณ 2.50 บาท ถ้าขายไฟให้กับรัฐบาลได้มากกว่านี้หมายถึง กำไร ที่สำคัญ อัตราขายไฟเป็นแบบ FIT ตลอดระยะเวลารับซื้อ โจทย์ตอนนี้ก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้เกิดกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ถูกบรรจุไว้ในแผน PDP ให้ได้ ทางเดียวก็คือ ต้องอาศัยโครงการของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าชุมชน โซลาร์ฟาร์ม หรือโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ โดยมองไปว่าในช่วง 10 ปีแรกของแผน PDP พอที่จะมีช่องให้เกิดกำลังผลิตใหม่ได้ อย่างน้อย ๆ ก็ประมาณ 4,000 MW” แหล่งข่าวกล่าว
ร่นเวลาโซลาร์ลอยน้ำ
ด้าน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในช่วงที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไข แผน PDP 2018 Rev.1 ทาง กฟผ.ได้เสนอที่จะ “ร่น” ระยะเวลาการดำเนินโครงการจาก 18 ปี (กำหนดจ่าย COD ระหว่างปี 2564-2580) ลงเหลือภายใน 5 ปี รวมกำลังผลิต 2,725 MW หรือเฉลี่ย กฟผ.จะทำโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน ประมาณปีละ 500 MW
ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มที่กำลังศึกษาร่วมกับกองทัพบกนั้น นายบุญญนิตย์กล่าวว่า กองทัพบกมีพื้นที่ราชพัสดุที่มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 30,000 MW และมองว่าจะใช้ประโยชน์จากที่ดินตรงนั้น โดยจะให้ กฟผ.ทำ หรือร่วมมือกับภาคเอกชนก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โครงการนี้กำลังศึกษาอยู่