ศบค.เผยผู้ป่วยรายใหม่ 143 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 รายที่อุบลฯ-สมุทรสาคร ค้นหาเชิงรุกปทุมธานีเจออีก 50 ราย ยังกระจายไปอีก 6 จังหวัด พบโชเฟอร์รถเมล์สาย 34 ติดโควิด “อนุทิน” เผยวัคซีนล็อตแรกถึงไทย 24 ก.พ. เริ่มฉีดต้นเดือน มี.ค. สธ.จับตา 3 สายพันธุ์กลายพันธุ์ เล็งกักตัวคนเดินทางจากแอฟริกา 21 วัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 143 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 132 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 64 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 68 ราย ในจำนวนนี้มาจากการค้นหาเชิงรุกที่ จ.ปทุมธานี 50 ราย สมุทรสาคร 16 ราย กทม. 1 ราย และเพชรบุรี 1 ราย นอกจากนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 24,714 ราย หายป่วยสะสม 22,883 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,749 ราย
มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 2 ราย รายแรกเป็นชายไทย อายุ 62 ปี มีอาชีพค้าขายผักที่ จ.อุบลราชธานี มีโรคประจำตัวเบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง เริ่มมีอาการไอแห้งเมื่อวันที่ 5 ก.พ. จากนั้นวันที่ 8 ก.พ.ไอมากขึ้น มีเสมหะมากขึ้น หายใจเหนื่อยหอบ วันที่ 9 ก.พ.ปอดอักเสบรุนแรง ต่อมาไปโรงพยาบาลตรวจพบเชื้อโควิด-19 โดยช่วงระหว่างวันที่ 10-13 ก.พ.อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตวันที่ 14 ก.พ. อีกรายเป็นชายไทย ชาว จ.สมุทรสาคร อายุ 78 ปี เป็นพ่อบ้านที่ไม่ได้เดินทางไปไหน วันที่ 16-17 ม.ค. ลูกสาวที่เป็นผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้ามาเยี่ยมที่บ้าน รับประทานอาหารร่วมกัน ช่วงระหว่างวันที่ 19-20 ม.ค.มีอาการไอแห้ง เจ็บคอ วันที่ 22 ม.ค.ไอมากขึ้น ต่อมาไปโรงพยาบาลตรวจพบโควิด-19 ปอดอักเสบรุนแรง จากนั้นวันที่ 30 ม.ค.เหนื่อยหอบมากขึ้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ติดเชื้อในกระแสเลือด วันที่ 7 ก.พ.อาการแย่ลง ไตวายเฉียบพลัน ความดันโลหิตลดลง หายใจผิดจังหวะ และเสียชีวิตวันที่ 13 ก.พ. ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 82 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 109,387,000 ราย เสียชีวิตสะสม 2,411,436 ราย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า กรณีมีรายงานคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา พบว่าเป็นชายไทย อายุ 41 ปี เป็นนักธุรกิจไปรับซื้อพลอยที่ประเทศแทนซาเนีย อยู่ที่ประเทศดังกล่าวเป็นเวลา 2 เดือน โดยต่อเครื่องที่เอธิโอเปียก่อนถึงประเทศไทยวันที่ 29 ม.ค. เข้าไปอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ วันที่ 3 ก.พ.ตรวจพบเชื้อโควิด-19 จากนั้นวันที่ 4 ก.พ.ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ วันที่ 12 ก.พ.พบเป็นเชื้อสายพันธุ์แอฟริกัน ซึ่งเชื้อดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับสายพันธุ์อังกฤษ ดังนั้นอาจพิจารณากักตัวผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาเป็นเวลา 21 วัน เหมือนกับผู้ที่เดินทางกลับมาจากอังกฤษ
สำหรับพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ขณะนี้อยู่ในช่วงการค้นหาเชิงรุกในโรงงานขนาดเล็ก ส่วนในพื้นที่ กทม.ยังติดตามใกล้ชิดในกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ใกล้เคียง 862 ราย พบเชื้อ 20 ราย ส่วนการติดเชื้อตลาดพรพัฒน์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นหญิงชาวเมียนมา ซึ่งพบเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 7 ก.พ. โดยระหว่างวันที่ 9-13 ก.พ. หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้ระดมกำลังตรวจค้นหาเชิงรุกในตลาดพรพัฒน์ไปจำนวน 1,333 ราย พบติดเชื้อ 175 ราย หรือ 13% นอกจากนี้พบว่ามีผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับตลาดพรพัฒน์กระจายไปในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ เพชรบุรี, พระนครศรีอยุธยา, แพร่, นครนายก, สระบุรี, นครราชสีมา จึงขอเตือนไปยังตลาดต่างๆ ว่าจำเป็นต้องกำหนดมาตรการให้เข้มข้น
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องวัคซีนว่า ยืนยันจะได้รับมาล็อตแรก 2 แสนโดสก่อน จะมาสัปดาห์สุดท้ายปลายเดือน ก.พ.นี้แน่นอน และเมื่อมาถึงประเทศไทยแล้วจะใช้เวลาประมาณ 3 วันในการเตรียมการฉีดเข็มแรก และได้มีการกำหนดกลุ่มในการฉีดไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา ขอให้รออีกนิดแล้ว ศบค.จะชี้แจงให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ล็อตที่สอง 8 แสนโดส และล็อตที่สามอีก 1 ล้านโดสจะตามมา โดยส่วนหนึ่งจะนำมาฉีดเข็มที่ 2 ของกลุ่มระยะแรก และที่เหลือจะเป็นระยะที่หนึ่งของคนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ครบทุกกลุ่ม โดยได้เน้นย้ำไปว่าให้ดูในส่วนของพื้นที่เสี่ยงเป็นหลัก รวมถึงกลุ่มแรงงานและในพื้นที่ท่องเที่ยวด้วย สำหรับในส่วนของบริษัทแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดสจะเข้ามาประมาณเดือน พ.ค.และ มิ.ย. และอีก 35 ล้านโดสจะตามมา ซึ่งเราต้องกำหนดเป้าหมายการฉีดให้ต่อเนื่องสอดคล้องกัน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทซิโนแวคว่า คาดว่าล็อตแรก 2 แสนโดสจะผลิตเสร็จออกจากโรงงานในวันที่ 20 ก.พ.นี้ จากนั้นจะนำขึ้นเครื่องบินด้วยสายการบินไทยจากกรุงปักกิ่ง ถึงไทยวันที่ 24 ก.พ.นี้ หลังจากนั้นต้องนำมาผ่านการตรวจสอบเอกสารและคุณภาพมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีก คาดว่าจะสามารถฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงหรือผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงได้ในต้นเดือน มี.ค.หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยการขึ้นทะเบียนวัคซีนนี้ทำในภาวะฉุกเฉิน แต่ทุกอย่างจะต้องมีความปลอดภัย สำหรับพื้นที่ที่จะได้รับการฉีดยังเป็นพื้นที่เสี่ยงเหมือนเดิม
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีการรายงานสายพันธุ์ที่เจอและต้องระวังทั่วโลก โดยมีคำแนะนำว่าจะต้องเฝ้าระวัง 3 สายพันธุ์ที่อาจจะมีปัญหา ได้แก่ 1.สายพันธุ์ B.1.1.7(GR,G) ประเทศที่พบครั้งแรกคืออังกฤษ เมื่อเดือน ก.ย.63 ส่วนใหญ่อยู่ในอังกฤษ มีการกระจายไปในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ในยุโรปแล้ว 2.สายพันธุ์ B.1.351(GH,G) พบครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือน ต.ค.63 ติดเชื้อง่ายขึ้น อาจจะสามารถหนีภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น อาจจะมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนลดลง และ 3.สายพันธุ์ P.1(GR) พบครั้งแรกที่ประเทศบราซิล เมื่อเดือน ธ.ค.63 ซึ่งพลาสมาหรือระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จับกับไวรัสเหล่านี้ได้น้อยลง
“ความน่ากลัวของสายพันธุ์แอฟริกาใต้นี้คือ มีผลต่อการตอบสนองของวัคซีนได้ลดลง อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการพัฒนาวัคซีนปรับปรุงวัคซีนทุกๆ 1-2 ปี ลักษณะเดียวกับการทำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าจะรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น” ผศ.นพ.โอภาสกล่าวและว่า เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้คนไทยมีโอกาสติดเชื้อที่กลายพันธุ์ ซึ่งจะมีผลต่อการใช้วัคซีนในอนาคต สธ.มีการหารือเตรียมเพิ่มวันกักตัวของผู้ที่เดินทางตั้งต้นมาจากประเทศในทวีปแอฟริกาใต้เป็น 21 วัน นับแต่วันเดินทางจากแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยยังไม่มีสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ ยังเป็นสายพันธุ์ที่มาจากเมียนมา
มีรายงานข่าวจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จากการค้นหาเชิงรุกบริเวณตลาดสุชาติและอาคารพาณิชย์โดยรอบอำเภอธัญบุรี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ยืนยันผลการตรวจว่า พนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 34 (กะบ่าย) เพศชาย จำนวน 1 คน ซึ่งมีที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณตลาดสุชาติ ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อ 14 ก.พ. จึงให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลำลูกกา และ ขสมก.ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
ที่ จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ตรวจพบมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่เพิ่มอีก 1 ราย ที่บ้านหนองบัวแดง หมู่ที่ 14 ต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง ซึ่งเป็นเด็กชายอายุ 7 ขวบ ที่ติดเชื้อมาจาก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยเดินทางไปกับบิดาและพี่สาวแฝดอีก 2 คน เพื่อไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลศพของญาติเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา จึงได้ตรวจโควิดผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจำนวน 14 ราย และผู้มีความเสี่ยงต่ำอีก 34 ราย แต่เบื้องต้นผลออกมาเป็นลบทั้งหมด ทั้งนี้อำเภอเสิงสางได้สั่งปิดหมู่บ้านดังกล่าวแล้ว.