โควิด -สงครามการค้า ฉุดตัวเลขการค้าชายแดน-ผ่านแดนไทย ร่วง 2 ปีซ้อน พาณิชย์ เร่งเปิดด่านชายแดนขับเคลื่อนการค้า ลุ้นตัวเลขปีนี้โตหนุนส่งออกไทย
ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยมีการอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าในระหว่างกันในภูมิภาค เนื่องจากอุปสรรคทั้งด้านภาษีและที่มิใช่ภาษีที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศ เพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกัน ซึ่งมูลค่าการออกค้าชายแดนและผ่านแดน ถือว่ามีความสำคัญต่อยอดตัวเลขการส่งออกของไทย โดยปีนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 3.5 – 4%
แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยตัวเลข โดยปี 2562 มูลค่า 1,337,282 ล้านบาท ลดลง 3.43 % เมื่อเทียบกับปี 61 และปี 2563 การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย ปิดตัวเลขไปที่ 1,319,325 ล้านบาท ลดลง 1.70% เทียบกับปี 2562 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าชายแดนและผ่านแดนลดลง มาจากค่าเงินบาทแข็งตัวและปัญหาของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบจากภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
ปัญหาที่สำคัญสุดคงหนีไม่พ้น ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2563ทำให้ตัวเลขการค้าลดลงต่อเนื่อง นอกเหนือจากผลกระทบสงครามการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนทั้งมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา หายไปกว่า 70,000-80,000 ล้านบาท จากยอดการค้ารวมเฉลี่ยประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบปิดด่านชายแดนจนถึงปัจจุบันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมค้าขายทางเศรษฐกิจหยุดชะงักส่งผลให้มูลค่าการค้าชายแดนลดลง
ล่าสุดปี 63 มูลค่าค้าชายแดนทั้งปี 760,241 ล้านบาท ลดลง 8.01% โดยเฉพาะมาเลเซีย ที่เป็นคู่ค้าสำคัญที่มีสัดมีสัดส่วนราว 50% ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมดก็ลดลงถึง 9.10 % มูลค้าการค้ารวม 249,499 ล้านบาท รองลงมา สปป.ลาว มีมูลค่าการค้ารวม 189,836 ล้านบาท ลดลง 3.85% เมียนมา มีมูลค่าการค้ารวม 164,779 ล้านบาท ลดลง 14.74% และกัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม 156,127 ล้านบาท ลดลง 3.15%
แม้ว่าในปีนี้ การค้าผ่านแดนประเทศเพื่อนบ้านไปตลาดจีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ มีมูลค่ารวม 559,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.41% โดยเฉพาะจีนยังรั้งอันดับ 1 มีมูลค่าการค้ารวม 238,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.01% รองลงมา สิงคโปร์ มีมูลค่าการค้ารวม 88,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.16% ในขณะที่ เวียดนาม มีมูลค่าการค้ารวม 59,300 ล้านบาท ลดลง 10.79%
จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งขับเคลื่อนการค้าชายแดนเพื่อปั้มยอดการค้าชายแดนให้กับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะการเร่งเปิดด่านชายแดนเพื่อให้การค้าขายกลับมา ซึ่งปัจจุบัน เหลือจุดผ่านแดนที่ยังคงเปิดทำการ เพียง 40 ด่าน จากทั้งหมด 97 ด่านทั่วประเทศ และจะเร่งรัดให้เปิดด่านเพิ่มอีก 3 ด่าน คือ 1.ด่านป่าแซง จังหวัดอุบลราชธานี 2.ด่านเชียงคาน จังหวัดเลย 3.ที่ท่าเรือหายโศก จังหวัดหนองคาย ซึ่งทั้ง 3 ด่านนี้ นายจุรินทร์ ลักษวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีจะเสนอต่อที่ประชุมครม.ในการประชุมครม.วันที่ 9 ก.พ.นี้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีสั่งการเป็นนโยบายเพื่อเร่งรัดการส่งออกสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มองว่า แม้ที่ผ่านมาการค้าชายและผ่านแดนของไทยจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าที่ยืดเยื้อ ค่าเงินบาทแข็งค่า และการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปิดจุดผ่านแดนตามด่านต่าง ๆ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถส่งไปยังประเทศปลายทางได้อย่างปกติ แต่ก็คาดว่า ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเนื่องอีกไม่นาน ซึ่งภายหลังจากที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มากขึ้น ปัญหาการปิดจุดผ่านแดนและมาตรการที่เข้มงวดต่างๆ ในการตรวจปล่อยสินค้าจะเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในส่วนของด่านชายแดน”เมียนมา” เป็นตลาดค้าชายแดนที่มีลู่ทางสดใสและมีศักยภาพในการเติบโตสูง ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีพรมแดนติดต่อกันยาวถึงกว่า 2,400 กิโลเมตร ที่ช่วยเอื้อให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประชาชนตามแนวชายแดนทั้ง 2 ประเทศได้ค่อนข้างสะดวก แต่สถานการณ์ภายในเมียนมาที่เกิดการรัฐประหารก็สร้างความกังวลให้กับการค้าขายตามแนวชายแดน แม้ว่าเบื้องต้นด่านสำคัญ 3 ด่านที่เป็นด่านถาวรในการส่งออกสินค้าของไทยทั้งด่านแม่สาย แม่สอด หรือระนอง สามารถส่งออกสินค้าได้ตามปกติโดยเฉพาะด่านที่กาญจนบุรี สังขละบุรีที่ปิดไปคาดว่าจะสามารถเปิดด่านได้ในเร็ววัน แต่ในอนาคตคงต้องจับตาหากประเทศต่างๆใช้นโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมา จะส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทยหรือไม่
ปี 64 คงต้องลุ้นว่า การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนจะฟื้นกลับมาหรือไม่หลังจากที่มูลค่าการค้าลดลง 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่า ยอดการค้าชายแดนที่จะกลับมาเหมือนเดิม จะทำให้ดึงตัวเลขการส่งออกของไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นในปีนี้