วันศุกร์ ที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 18.45 น.
มาตรการรับมือฤดูฝนของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ออกมาเป็น 13 มาตรการ ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องด้านน้ำนำไปปฏิบัติก่อนเข้าสู่ฤดูฝน และตลอดช่วงฤดูฝน โดยกำหนดตารางปฏิบัติการด้วย
มีเรื่องน่าสนใจฤดูฝนปีนี้มีมาตการที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ การจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าและการจัดเตรียมพื้นที่อพยพ
สทนช. รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพตามกฎหมาย ในฐานะองค์กรกลางด้านน้ำ โดยมีหน่วยงานอื่นเข้าร่วม
“ก่อนจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้า จะมีหน่วยงานพยากรณ์สภาพอากาศ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กทม. รวมทั้ง สทนช. คาดการณ์และประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม
ถ้าชัดเจน สทนช. จึงประกาศจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้า ซึ่งจะใช้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของเขตต่างๆ เป็นศูนย์บัญชาการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง” ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ดังนั้น ในขั้นตอนปัจจุบัน จึงเป็นเพียงการเตรียมความพร้อม โดยซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ โดยเฉพาะถ้าเกิดอุทกภัยหรือภัยแล้งในบางพื้นที่ขึ้น จะต้องทำกันอย่างไร
สทนช. กำหนดสถานที่ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุไว้ 4 ภาค โดยภาคเหนือ-จ.พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-จ.อุบลราชธานี ภาคกลาง-จ.ชัยนาท และภาคใต้-จ.สุราษฎร์ธานี
“สุราษฎร์ธานี เคยใช้เป็นศูนย์ส่วนหน้ารับมืออุทกภัยภาคใต้คราวที่แล้ว ผลงานเป็นที่ยอมรับ สทนช. ได้ลงไปซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเป็นแห่งแรกในปีนี้ ช่วงต่อไปจะดำเนินการในภาคอื่นตามลำดับ”
ดร.สุรสีห์กล่าวว่า สถานที่ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุดังกล่าว ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นสถานที่ตั้งศูนย์สว่นหน้าเสมอไป ขึ้นกับเหตุอุทกภัยเกิดขึ้นที่ใด อาจขยับปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
“แต่โดยรวมที่กำหนดเป็นสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับเขต เนื่องจากเป็นศูนย์รวมเครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และเป็นหน่วยงานในการบูรณาการประสานการปฏิบัติงานระหว่างจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกระทรวงมหาดไทยต่างให้การสนับสนุนด้วยดี จึงมั่นใจได้ว่าจะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น เป็นระบบมากขึ้น เท่ากับช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนจากการประสบภัยจากน้ำได้มีประสิทธิภาพด้วย”
นอกจากศูนย์ส่วนหน้าแล้ว สิ่งที่จะพ่วงตามมา คือ การจัดเตรียมพื้นที่อพยพจากอุทกภัย แต่เดิมชาวบ้านต้องพึ่งพาตัวเอง อพยพตามมีตามเกิด ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง มีทั้งวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เท่าที่จะต้อนมาได้ แต่ส่วนใหญ่เอาชีวิตตัวเองและครอบครัวรอดก่อน สัตว์เลี้ยงมาได้แต่น้อย อีกทั้งไม่มีสถานที่และอาหารรองรับ สัตว์เลี้ยงจำนวนไม่น้อยถูกปล่อยให้น้ำท่วมตายโดยปริยาย
แต่หลังจาก กอนช. เข้ามามีบทบาท ภารกิจส่วนนี้จึงมอบหมายให้ สทนช. เป็นเจ้าภาพในการวางแผนและบูรณาการกับหน่วยปฏิบัติ ซึ่งจะมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ
“การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ทำให้เห็นทั้งข้อดี และข้อบกพร่องต้องแก้ไข พอถึงสถานการณ์จริง สามารถดำเนินการตามแผนที่ซักซ้อมมาได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ได้มีแค่หน่วยงานเดียว ยังต้องบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
มาตรการรับมือฤดูฝน นอกจากบรรเทาปัญหาน้ำหลาก น้ำท่วมขัง ตลอดจนบรรเทาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เท่าที่เห็น กระบวนการและมาตรการรับมือฤดูฝน ค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ มีทิศทางและรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น ประชาชนสามารถพึ่งพาหน่วยงานรัฐโดยตรงได้ นอกเหนือจากการพึ่งพาองค์กรหรือมูลนิธิการกุศลเพื่อสาธารณะของเอกชนที่ทำอยู่อย่างมีข้อจำกัด
เป็นแนวโน้มที่ดีของการบริหารจัดการน้ำที่น่าจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงหลังมีการจัดตั้ง สทนช. เป็นองค์กรกลางด้านน้ำของประเทศ.