นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงผลการติดตามสถานการณ์การผลิตกระเทียมของจังหวัดศรีสะเกษ คาดว่า ปีเพาะปลูก 2563/64 มีเนื้อที่เพาะปลูก 638 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 7 มีผลผลิตรวม 527 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 7.77 ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว อยู่ที่ไร่ละ 826 กก. มากกว่าปีที่แล้ว 7 กก. หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85
“เนื่องจากปีนี้สภาพภูมิอากาศหนาวเย็น มีน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และไม่มีฝนช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ประกอบกับในปีที่ผ่านมาราคาอยู่ในเกณฑ์ดี จึงจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาผลผลิตมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งจังหวัดมีทิศทางเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงปลาย ก.พ.-เม.ย. และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วง มี.ค. ประมาณร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด”
สำหรับต้นทุนการผลิตกระเทียมของจังหวัดศรีสะเกษ ผู้อำนวยการ สศท.11 เผยว่า เฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 25,783 บาท หรือ กก.ละ 31 บาท เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยไร่ละ 90,034 บาท หักต้นทุนแล้วเกษตร กรจะเหลือกำไรเฉลี่ยไร่ละ 64,251 บาท
นายนิกร คาดว่า ราคากระเทียมแห้งมัดจุกปีนี้น่าจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ผลผลิตมีคุณภาพ ประกอบกับตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง หากจำแนกราคาแต่ละขนาดพบว่ากระเทียมแห้งหัวใหญ่มัดจุกจะมีราคาเฉลี่ย กก.ละ 121 บาท สูงจากปีที่ผ่านมาที่มีราคา กก.ละ 110 บาท กระเทียมแห้งหัวกลางมัดจุกราคาเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 110 บาท สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีราคา 100 บาท และกระเทียมแห้งหัวเล็กมัดจุก เฉลี่ย 96 บาท/กก. สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่มีราคา 86 บาท
“ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด เกษตรกรควรเฝ้าระวังโรคหัวและรากเน่า โรคใบจุดสีม่วง และโรคใบไหม้ อาจส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตได้ นอกจากนี้ เกษตรกรควรเพาะปลูกในพื้นที่ดินมูลทรายหรือดินจอมปลวกจะทำให้กระเทียมเจริญเติบโตดี มีคุณภาพดี สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่ากระเทียมจากแหล่งอื่น” ผู้อำนวยการ สศท.11 กล่าว.