ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัยใน 12 จังหวัด ประสานช่วยเหลือผู้ประสบภัย – เร่งระบายน้ำ ดร. โจ หนุนกรมชลฯ ตัดยอดน้ำเหนือเขื่อนลดปริมาณน้ำในเจ้าพระยาตอนล่าง เตือนประชาชนเฝ้าระวังน้ำล้นเจ้าพระยา
ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัยใน 12 จังหวัด ประสานช่วยเหลือผู้ประสบภัย – เร่งระบายน้ำ ดร. โจ หนุนกรมชลฯ ตัดยอดน้ำเหนือเขื่อนลดปริมาณน้ำในเจ้าพระยาตอนล่าง เตือนประชาชนเฝ้าระวังน้ำล้นเจ้าพระยา
วันที่ 25 ก.ย.2564 เมื่อเวลา 09.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ในช่วงวันที่ 16 – 25 ก.ย. 64 เกิดอุทกภัยใน 26 จังหวัด รวม 84 อำเภอ 219 ตำบล 908 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,753 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 12 จังหวัด
ได้แก่ พิจิตร ชัยภูมิ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี ขอนแก่น ลำปาง ลำพูน และอุบลราชธานี ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เร่งระบายน้ำและให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงาน จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 64 – ปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 26 จังหวัด
ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กําแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ราชบุรี และนครศรีธรรมราช รวม 84 อำเภอ 219 ตำบล 908 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,753 ครัวเรือน
อ่านข่าว : “อัศวิน” สั่ง กทม.เกาะติด “เตี้ยนหมู่” พร้อมเปิดแผนป้องกันน้ำท่วมกรุงฯ
- ทุกจังหวัดต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม น้ำป่าหลาก
ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 12 จังหวัด ดังนี้
– พิจิตร ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบึงนาราง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพทะเล อำเภอสามง่าม และอำเภอดงเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร
– ชัยภูมิ เกิดฝนตกหนักทำให้ลำน้ำชีเอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัส อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอเนินสง่า และอำเภอบ้านเขว้า ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
– นครราชสีมา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านขุนทด อำเภอสูงเนิน อำเภอโนนสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอพิมาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร
– พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา และอำเภอบางบาล ปัจจุบันมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผงซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ
– สุโขทัย เกิดฝนตกหนักทําให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรีสำโรง อำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอคิรีมาศ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
– ชัยนาท เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ตำบลไร่พัฒนา อำเภอมโนรมย์ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
– นครสวรรค์ เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลาดยาว อำเภอหนองบัว อำเภอชุมแสง อำเภอแม่วงก์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ และอำเภอชุมตาบง ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
- แจ้งช่องทางช่วยเหลือ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784”
– สิงห์บุรี เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภออินทร์บุรี รวม 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลอินทร์บุรี และตำบลชีน้ำร้าย ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
– ขอนแก่น เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโคกโพธิ์ไชย และอำเภอมัญจาคีรี ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
– ลําปาง เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเถิน อำเภอสบปราบ และอำเภอเกาะคา ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
– ลําพูน เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอแม่ทา อำเภอลี้ และอำเภอป่าซาง ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
– อุบลราชธานี เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
ภาพรวมสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลงในหลายพื้นที่ แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่รับน้ำ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
สำหรับประชาชนหากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วน
- เตือนประชาชนเฝ้าระวังน้ำล้นเจ้าพระยา
ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่าย 15 สถาบันการศึกษาด้านการจัดการภัยพิบัติ ให้ข้อมูลว่าเหตุการณ์พายุขณะนี้จะทำให้ฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ใต้เขื่อนภูมิพล สิริกิต แควน้อย เป็นหลัก โดยมีสาเหตุอันเนื่องมาจากร่องฝนยังวิ่งไปมาแถว ๆ ภาคกลางและ กทม. ซึ่งเหตุการณ์อาจจะวิกฤตหนักขึ้นไปอีก ถ้าหากน้ำเหนือเขื่อนไหลลงมาผสมกับน้ำฝนที่ตกในบริเวณพื้นที่ใต้เขื่อนเกิดเป็นภาวะเจ้าพระยาล้นตลิ่ง
ตามแผนของกรมชลประทานที่ร่างไว้นั้น จะช่วยตัดยอดน้ำเหนือก่อนถึงเขื่อนเจ้าพระยาให้ลดลงเหลือไม่เกิน 3,000 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที ทำให้เมื่อมาผสมกับน้ำฝนตกในลุ่มน้ำตอนล่างจะมีปริมาณน้ำรวมกันไม่เกิน 4,000 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที ซึ่งในปริมาณนี้คันของ กทม. ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะพอรับมือไหวไม่ให้เกิดการเอ่อล้นฝั่งได้
จึงขอหนุนให้กรมชลประทานสามารถตัดยอดน้ำเหนือเขื่อนก่อนไหลลงสู่ อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กทม. ให้ได้ ซึ่งก็จะช่วยให้บ้านเรือนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาพ้นจากวิกฤติน้ำเอ่อล้นครั้งนี้ไปได้
แต่เพื่อเป็นการไม่ประมาท ขอประชาชนริมฝั่งเจ้าพระยาในทุกจังหวัด รวมทั้งเขตบางพลัด บางกอกน้อย บางซื่อ ดุสิต เตรียมพร้อมเฝ้าระวังติดตามข่าวสาร สังเกตปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากเขื่อน และติดตามปริมาณฝนที่ตกในลุ่มน้ำตอนล่างนี้ประกอบด้วย เพื่อเตรียมการย้ายสิ่งของหากมีความจำเป็นเกิดขึ้น