พช. จับมือ ม.ราชภัฏ ผนึกกำลัง ‘บวร’ พัฒนาแปลง ‘โคก หนอง นา ชาววัง คลังยา และอาหาร’ ขยายผลจำหน่ายบนห้างสรรพสินค้า
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายภคิน ศรีวงศ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน) กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ประสานความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดย นายเจษฎา ชะโกฏ นักวิชาการศึกษา ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการชุมชน มอบพืชสมุนไพร ได้แก่ ขิง จำนวน 10 กิโลกรัม กระชาย 5 กิโลกรัม และต้นไผ่ จำนวน 560 ต้น พร้อมร่วมกิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรม ปลูกไม้พื้นถิ่น สมุนไพรพื้นถิ่น และไม้ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในพื้นที่แปลงโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” บ้านวังอ้อ หมู่ที่ 9 ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับความเมตตาจากเจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรม สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ผู้ให้การสนับสนุนการพัฒนาแปลง “โคก หนอง นา ชาววัง คลังยา และอาหาร” และเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสร้างวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวอีสาน และศูนย์เรียนรู้พืชสมุนไพรต้านโควิด-19 ขึ้น
กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมสนองพระราชดำริ ตามแนวทางที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ประสานเครือข่าย และขยายผลการพัฒนาพื้นที่สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมการพัฒนาชุมชน (อพ.สธ.-พช.) ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่น โดยมีแผนดำเนินงาน โดยการปลูกรักษาพันธุกรรมพืช การสำรวจรวบรวมพันธุกรรมพืช และบันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศ (GIS) ตลอดจนสร้างความตระหนักและเห็นความสำคัญ แก่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ตามแนวพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
โอกาสนี้ เจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ได้กล่าวอำนวยอวยพรให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ว่า “กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงของชีวิต จากการเอาแฮงสามัคคี หรือเอามื้อสามัคคี ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชาวไทยอีสาน โดยมีพลัง “บวร” หรือ บ้าน วัด ราชการ จากชุมชนบ้านวังอ้อ และพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมดำเนินกิจกรรม ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ และพัฒนาพื้นที่ “โคก หนอง นา ชาววัง คลังยา” บ้านวังอ้อ แห่งนี้ ซึ่งต่อไปข้างหน้าชุมชนจะมีคลังยาและอาหารไว้กิน ไว้ใช้ ไว้แบ่งปัน ขออนุโมทนากับทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจ ขอขอบคุณสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานีและมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่ได้ร่วมทำบุญ สนับสนุนปัจจัยการผลิตในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดศูนย์เรียนรู้ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างทางรอดให้แก่คนในชุมชนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงในอนาคตระยะยาวต่อไป
ขณะที่ นายภคิน ศรีวงศ์ ผู้แทนพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยว่า “ขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาจากเจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตลอดจนขอบคุณความร่วมมือจากผู้นำชุมชนและภาคีเครือข่าย บ้านวังอ้อ ซึ่งเป็นผู้มีจิตอาสาและเป็นกุศล ตามหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด ราชการ จนมีผลการดำเนินงานสามารถเป็นต้นแบบในการดำเนินงานและเห็นผลทั่วประเทศ โดยแผนงานในอนาคตสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี จะประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และมีภารกิจสำคัญในการบริการวิชาการชุมชน และเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้ด้านวิชาการ การถ่ายทอดและผู้มาเรียนรู้ สอดคล้องกับภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยจะมีการต่อยอดในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ร่วมกับหน่วยงานราชการ ประชาชนจิตอาสา คณะและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ภายในมหาวิทยาลัยฯ ก่อนขยายผลกิจกรรมให้มีความต่อเนื่องในระยะยาวต่อไป”
จากนั้น นายภคิน ศรีวงศ์ พร้อมครอบครัว ได้เดินทางไปสำรวจตลาดจำหน่ายสินค้าภายใต้ชื่อแบรนด์ “บวร” ณ บริเวณ Tops Super Market ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุบลราชธานี ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ Earth Safe Foundation ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจของ CENTRAL Group เพื่อร่วมพัฒนาและส่งเสริมด้านเกษตรอินทรีย์ และมีวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของกลุ่มสมาชิกอินทรีย์วิถีไทยป่าดงใหญ่วังอ้อ ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ โดยนำหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้น มาใช้ในการพัฒนา อาทิ การส่งเสริมปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนก่อน เมื่อมีพื้นฐานที่มั่นคงแล้ว ก็ให้ทำบุญและแบ่งปันกัน รู้จักการเก็บรักษา คือ แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ออกจำหน่ายเป็นรายได้ โดยการรวมกลุ่ม รวบรวมผลผลิต สร้างตราสัญลักษณ์ถ่ายทอดเรื่องราวผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด และจัดจำหน่ายผลผลิตผักอินทรีย์ที่ปราศจากสารเคมี 100% ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่